นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมการปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษา เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการประเมินคุณภาพและประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการด้านการวัดผลประเมิน ผลเข้าร่วมประชุม โดยเชิญรองศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ (ผู้เขียนหนังสือความลับของการวัดผล) เป็นหัวหน้าคณะทำงานปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพซึ่งมีข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้
การประกันคุณภาพการศึกษา จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่สถานศึกษาอย่างเดียว อาทิ เรื่องงบประมาณ การบริหารบุคคล เป็นต้น โดยตัวชี้วัดในการประเมินในสถานศึกษาแต่ละแห่ง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เนื่องจากมีบริบทต่างกัน ทำให้รูปแบบของความสำเร็จต่างกัน เปรียบได้กับการขับรถ โดยปกติภายในรถยนต์จะประกอบด้วยข้อมูลและอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย แต่บนหน้าปัดของรถก็จะแสดงผลให้เราทราบเพียงไม่กี่อย่าง เพื่อเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ารถนั้นสามารถขับเคลื่อนได้อย่างดี เช่น ความเร็ว ความร้อน เป็นต้น หรือรถทุกคันก็ไม่จำเป็นต้องมีถุงลมนิรภัย (Airbag) ทุกคัน เช่นเดียวกับตัวชี้วัดในการประเมิน ก็จะมีเพียงไม่กี่ตัวชี้วัดที่จะบ่งบอกว่าการประเมินนั้นจะไปในทิศทางที่ดีและถูกต้อง
สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factor – CSF) ซึ่งตัวชี้วัดที่ดีจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ คือ สามารถนำมาใช้ได้จริง นอกจากนี้ เมื่อมีการประเมินเกิดขึ้นจะต้องทำให้ผู้ถูกประเมินมีความรู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากการประเมิน ไม่ใช่กำลังโดนทดสอบอยู่ โดยจะต้องมีตัวชี้วัดที่ง่าย อุปมาได้กับการประเมินนั้น
หลักสำคัญของการประเมินในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็คือสิ่งที่ถูกประเมินจะต้องดีขึ้น, การประเมินสถานศึกษาก็เช่นเดียวกัน หากพบว่าเมื่อทำการประเมินแล้ว ผลการประเมินออกมาคือคุณภาพสถานศึกษาแย่ลงทุกรอบการประเมิน นั่นแสดงว่าการประเมินยังไม่มีประโยชน์ แต่การประเมินนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้โรงเรียนแย่ลง ต้องแยกออกจากกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของผลการประเมินนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรจะต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายใน หรือรายงานจากการประเมินคุณภาพภายนอก ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อาทิ หากผลการประเมินรายงานว่าโรงเรียนนั้นๆ มีปัญหาเนื่องจากขาดแคลนบุคลากร กระทรวงศึกษาธิการสามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ ถึงจะเรียกว่ามีประโยชน์ และท้ายที่สุดสถานศึกษาจะต้องใช้ประโยชน์จากผลการประเมินด้วยเช่นกัน
จากการประชุมครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปถึง Roadmap ที่จะดำเนินการปฏิรูประบบการประเมินคุณภาพและประกันคุณภาพการศึกษา คือ ภายใน 3 เดือนนี้ จะต้องดำเนินการเรื่องตัวชี้วัด (Key Performance Indicators: KPI) ให้เสร็จสิ้น อีก 3 เดือนถัดไป ก็จะทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและ สมศ. เพื่อให้ตัวชี้วัดและวิธีการประเมินไปแนวทางเดียวกัน จากนั้นใน 3 เดือนสุดท้าย จะเป็นกระบวนการทดสอบระบบการประเมินดังกล่าว
แต่หากพบปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตาม Roadmap หรือสุดท้ายหากกำหนดตัวชี้วัดแบบเดิมๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะขยายเวลา Roadmap ออกไป ถ้าไม่เสร็จก็คือไม่เสร็จ เพราะฉะนั้นทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องให้ความร่วมมือ และทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงๆ หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องทำให้ดีก่อน จึงจะถือว่าการปฏิรูปเสร็จสิ้นลง
ทีมา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ
URL Copied