ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 1/2559
ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันพุธที่ 6 มกราคม 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)
1) งบประมาณกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการตามนโยบายของรัฐบาล จากระบบ GFMIS ที่กรมบัญชีกลางใช้ติดตามงบประมาณ ณ วันที่ 4 มกราคม 2559 ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ 6,246 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้ 4,900.24 ล้านบาท (ร้อยละ 78.45) และคงเหลือยังไม่เบิกจ่าย 1,345.76 ล้านบาท (ร้อยละ 21.55) โดยในส่วนนี้เป็นรายการที่ก่อหนี้ผูกพันแล้วแต่ยังไม่เบิกจ่าย 2,031 รายการ จำนวน 742.02 ล้านบาท เป็นรายการที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ 256 รายการ จำนวน 150.49 ล้านบาท และคงเหลือจากการทำสัญญา จำนวน 453.25 ล้านบาท ซึ่งมีหน่วยงานที่เบิกจ่ายได้สูงสุด คือ สพฐ. สอศ. และ สป.ตามลำดับ ในส่วนของมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยในสังกัดและในกำกับรวม 9 แห่ง ที่สามารถเบิกจ่ายได้ร้อยละ 100
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
2) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับงบประมาณรวมจำนวน 517,076 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2559) มีผลการใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงจำนวน 158 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 30.75 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่ายตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงมีครูเพียงส่วนน้อยที่เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะครูบางส่วนใช้แผนของเอกชนและบางส่วนก็สอนตามประสบการณ์ ดังนั้น สพฐ. จึงตระหนักในความสำคัญของการเขียนหน่วยและแผนการเรียนรู้ เพื่อให้การสอนของครูมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเสนอแนวทางการพัฒนาครูใน 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 “ทำให้ใช้” การจัดทำหน่วยและแผนการจัดการเรียนรู้ ชั้น ป.1-ม.3 เผยแพร่ทาง DLTV เพื่อให้ครูนำไปใช้และเกิดการเรียนรู้จากการใช้จริง
ขั้นตอนที่ 2 “พาทำ” โดยดำเนินการในหลายส่วน คือ 1) เปิดรับสมัครครูผู้สอนเพื่อเข้ารับการพัฒนาตามความสมัครใจ 2) การพัฒนาแบบออนไลน์ 3) จัดทำคลิปวีดิโอนำเสนอตัวอย่างการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การสอนแบบบูรณาการ การสอนแบบคละชั้น (BBL) การสอนแบบ Project-based Learning การสอนแบบ Problem-based Learning 4) มี Teaching Resource ที่จำเป็นต้องใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ 5 โมดูล ได้แก่ ห้องเรียน DLTV คลังสื่อการสอน การพัฒนาวิชาชีพครู คลังข้อสอบ และห้องสมุดดิจิทัล พร้อมทั้งเสริมเทคนิคการตั้งคำถาม เทคนิคการสอน ตัวอย่างชิ้นงาน/ภาระงาน 5) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาศึกษานิเทศก์หรือครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาสาที่จะทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและเติมเต็มในการพัฒนาครู
ในการนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการทบทวน/ปรับปรุงแนวทางการพัฒนาให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ผลิตและพัฒนาเนื้อหาหรือตัวอย่างที่ดี ทันสมัย และมีการทดสอบความเที่ยงตรงก่อนนำไปใช้จริง ตลอดจนนำแผนการเรียนรู้ของเอกชนที่ดีๆ มาเป็นตัวอย่างในการพัฒนา