ข่าวการศึกษา

แถลงข่าวชี้แจงการสอบ O-NET

ศึกษาธิการ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.  และ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมแถลงข่าวชี้แจงข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ

onet

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทดสอบ O-NET จึงต้องชี้แจงให้เข้าใจตรงกัน รวมทั้งจะชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ O-NET ในระยะต่อไปด้วย ดังนี้

ข้อเท็จจริงของ “คะแนนและข้อสอบ” ที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า คะแนนที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เป็นคะแนนการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ไม่ใช่คะแนนสอบ O-NET ซึ่งการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรง โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ข้อสอบจึงมีความยาก เพื่อให้คัดเลือกนักเรียนในสาขาวิชาและคณะที่ต้องการ โดยหลังจากดำเนินการจัดสอบแล้ว สทศ.ได้วิเคราะห์ข้อสอบแล้วพบว่าข้อสอบมีความยากกว่าปกติจริง จึงต้องพัฒนาข้อสอบให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ยากหรือง่ายเกินไป

ส่วนข้อสอบที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และรายการโทรทัศน์ มีข้อสอบเพียงข้อเดียวที่เป็นข้อสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 รายวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่นักเรียนจดจำรายละเอียดของข้อสอบได้นำออกมาเผยแพร่ แต่ก็มีความใกล้เคียงกับเนื้อหาในข้อสอบฉบับจริง สำหรับข้อสอบอื่นๆ ทั้งหมดที่ถูกนำมาเผยแพร่ด้วยนั้น เป็นข้อสอบ O-NET เก่าในอดีตหลายๆ ปีรวมกันที่นำมาเกาะกระแสบนโลกออนไลน์ ดังนั้นจึงขอความเป็นธรรมให้ สทศ. ด้วย เนื่องจากข้อสอบฉบับจริงไม่ได้ถูกเปิดเผย และข้อสอบที่ถูกนำมาเผยแพร่นั้น มีข้อเท็จจริงที่บิดเบือนไป จึงไม่ได้หมายความว่าข้อสอบทุกข้อจะเป็นแบบนั้น ซึ่งในปัจจุบันและอนาคตข้อสอบ O-NET มีแนวโน้มมีคุณภาพที่ดีขึ้น

ย้ำให้ สทศ.วิเคราะห์ทิศทางการออกข้อสอบ

การที่คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยที่ตกต่ำนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานาน ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาไม่ต่างอะไรกับการเดา ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สทศ. ต้องร่วมกันวิเคราะห์ว่าเกิดความผิดพลาดจากจุดใด และจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่การเขียนมาตรฐานหลักสูตรที่มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่งผลต่อการออกข้อสอบที่บางครั้งคำถามไม่ชัดเจน

ซึ่งจะทำให้ สทศ. นำผลไปวิเคราะห์ได้ว่าควรออกข้อสอบไปในแนวทางใด เช่น หากต้องการออกข้อสอบที่วัดการใช้วิจารณญาณ ก็ไม่ควรใช้ข้อสอบปรนัย เพราะไม่สามารถวัดได้ ควรใช้ข้อสอบอัตนัยแทน ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการกำหนดสเป็คของข้อสอบให้มีความชัดเจนว่าต้องการวัดความสามารถด้านใด หรือกรณีที่ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยออกข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชานั้น ทำให้ข้อสอบดีจริงหรือไม่ สทศ.ก็ต้องนำเรื่องเหล่านี้ไปพิจารณาทบทวนด้วย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ต้องร่วมรับผิดชอบผลคะแนนเด็กต่ำกว่าเกณฑ์

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบการจัดทำมาตรฐานหลักสูตร (ต้นน้ำ) การจัดการเรียนการสอน (กลางน้ำ) และการวัดประเมินผล (ปลายน้ำ) ต้องร่วมกันรับผิดชอบเกี่ยวกับคะแนนของเด็กที่ต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะเชิญนักวิชาการและหน่วยงานภายนอก (External Review) มาประเมินการทดสอบของ สทศ. เพื่อพัฒนาการทดสอบต่างๆ ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับต่อไป ซึ่งอาจมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินผลการพัฒนาการศึกษาของประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดหากรรมการอิสระ 1 ชุด เพื่อดำเนินการอย่างเจาะลึกในประเด็นนี้

มาตรการแก้ไขปัญหาการสอบ O-NET ของ สทศ.

  • เผยแพร่ขอบเขตเนื้อหาของข้อสอบ (Test Specification) เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เตรียมความพร้อมก่อนสอบ เช่น ข้อสอบภาษาอังกฤษ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเด็กนักเรียนในระดับชั้น ม.6 ต้องรู้คำศัพท์กี่คำ และลักษณะข้อสอบเป็นแบบใด มีจำนวนกี่ข้อ รายละเอียดเหล่านี้ต้องแจ้งให้ครูและเด็กทราบก่อน ไม่ใช่ให้เด็กคาดเดาเอง เพราะข้อสอบจะไม่มี Surprise อีกต่อไป
  • สทศ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดทำคลังข้อสอบ O-NET และ NT ตามลำดับ  โดยขอให้พัฒนาคลังข้อสอบให้มีขนาดใหญ่ มีความหลากหลาย และครอบคลุม โดยให้ สทศ. เป็นผู้ควบคุมคุณภาพ (Gatekeeper) ของข้อสอบ โดยต้องทำให้ข้อสอบได้มาตรฐานจริงๆ
  • เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกมาร่วมสร้างข้อสอบ และมีการตรวจข้อสอบอย่างเข้มงวด กล่าวคือ การให้หน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดทำข้อสอบของสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หรือหน่วยงานจากสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เข้ามาประเมินข้อสอบของไทย โดยเราต้องเริ่มต้นปรับทัศนคติด้วยการยอมรับการตรวจสอบจากภายนอก นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการออกข้อสอบ โดยยึดขอบเขตเนื้อหาของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก เพื่อให้ได้ข้อสอบที่มีคุณภาพ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำด้วยว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการได้เรียนรู้ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยจะต้องระบุขอบเขตของเนื้อหาการสอบที่ชัดเจน ไม่ใช่ให้คนออกข้อสอบตีความหมายเอง อีกทั้งทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันพัฒนาและจัดทำคลังข้อสอบต่อไป และเมื่อมีการปรับระบบการออกข้อสอบแล้ว การออกข้อสอบที่ไม่ชัดเจนต้องไม่เกิดขึ้นอีก

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น : ถ่ายภาพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : ออกแบบ InfoGraphic

ที่มา : ข่าวสํานักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button