ข่าวการศึกษา

“การุณ”ไม่สนเสียงค้านหนุนจบสายวิทย์สอบครูได้

“การุณ” หนุนให้ผู้จบวิทย์ วิศวะ เทคโนฯ สอบครูผู้ช่วย เชื่อมีความรู้เชิงลึกสามารถสอนเด็กได้ ย้ำหากสอบเป็นครูได้ก็ต้องอบรมเข้ม และต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบในสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สามารถสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามแนวคิดสะเต็มศึกษาให้แก่นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต ว่าตนเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เอง ก็มองว่าคนที่จบในสาขาเหล่านี้จะมีความรู้ในเชิงลึก แม้นยำในเนื้อหามากกว่าผู้ที่จบในสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และด้วยประสบการณ์ที่ได้ฝึกปฏิบัติในขั้นตอนวิทยาศาสตร์ต่างๆ จะสามารถสอนเด็กได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ส่วนที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) มีความกังวลว่า หากเปิดช่องให้ผู้ที่จบในสาขาดังกล่าวมาสอบเป็นครูได้ จะทำให้เด็กไม่อยากมาเป็นครู เพราะต่อไปเรียนสาขาอะไรจบมาก็เป็นครูได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปีนั้น อยู่ที่มุมมอง แต่การคัดครูกลุ่มนี้ก็จะทำให้เราได้คนที่อยากจะเป็นครูจริงๆ ซึ่งก็ไม่ได้ไปกีดกันเด็กที่อยากเป็นครูและเรียนในสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรง และที่สำคัญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังมีความเชื่อมั่นในใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งครูทุกคนต้องมี ดังนั้นครูที่เข้ามาโดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯ ก็ต้องได้รับการอบรมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ อย่างถูกต้องเช่นกัน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

“คนเหล่านี้เมื่อสอบเข้ามาเป็นครูได้ก็จะต้องเข้ารับการอบรม พัฒนาอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามหลักเกณฑ์ ไม่อยากให้หลายฝ่ายกังวล โดยเฉพาะในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมความเป็นครู หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ในช่วง 2 ปีที่ทดลองสอนในตำแหน่งครูผู้ช่วยก็จะไม่ผ่านออกมาเป็นครูเต็มตัวได้อย่างแน่นอน ส่วนตัวผมเองเชื่อมั่นว่า ถ้าเราได้คนเก่งและมีประสบการณ์ในสาขาที่ขาดแคลนมาเป็นครู แม้จะยังไม่มีใบอนุญาตฯ ก็สามารถพัฒนาทักษะการสอนได้ไม่ยาก และที่สำคัญจะทำให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาวิชาได้ลึกซึ้งมากขึ้นด้วย” เลขาฯ กพฐ.กล่าว.

ขอบคุณที่มา  : ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button