ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย
สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง “ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย” ชี้กำลังคนเพิ่ม 50% ฐานเงินเดือนสูสีกับเอกชน งบบุคลากรโต 3 เท่า แต่ประสิทธิภาพและความโปร่งใสกลับตกลง จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
หากย้อนกลับไปดู 10 ปี ผ่านมา จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน ที่เพิ่มขึ้นมากคือลูกจ้างรัฐ และพนักงานรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 เท่า บางกระทรวงมีลูกจ้างและพนักงานมากกว่าข้าราชการประจำ ฐานเงินเดือนก็ไม่ต่ำอีกต่อไป จากที่ข้าราชการเคยได้รับเงินเดือนแรกเข้าเพียง 2 ใน 3 ของพนักงานเอกชนที่ระดับการศึกษาเท่ากัน แต่ปัจจุบันข้าราชการได้เงินเดือนแรกเข้าสูงกว่าพนักงานเอกชนโดยเฉลี่ย ราว 10% เพราะนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีให้ได้ 15,000 บาทต่อเดือน
งบบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากเมื่อสิบปีก่อน ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล งบบุคลากรภาครัฐเมื่อเทียบกับจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%)
งบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากอาจจะไม่ได้ส่งผลให้ผลงานของภาครัฐใน 10 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นเท่าที่ควร เพราะทั้งประสิทธิภาพและความโปร่งใสของภาครัฐแย่ลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากผลการวิจัยของธนาคารโลกพบว่า ความมีประสิทธิผลของรัฐบาลไทยอยู่อันดับ 74 จาก 196 ประเทศ ตกลงจากอันดับ 65 เมื่อสิบปีก่อน ปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐก็แย่ลงเช่นกัน จากผลวิจัยของธนาคารโลกเช่นเดียวกัน พบว่าไทยตกจากอันดับ 91 เมื่อสิบปีก่อน มาเป็นอันดับ 98 จาก 196 ประเทศ World Economic Forumสำรวจและจัดอันดับเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศ อันดับใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย (94) และมาลาวี (92)
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวเสริมว่า “การปฏิรูประบบราชการจะต้องเป็นวาระที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ และต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปด้านอื่นๆ สำเร็จได้ และตอนนี้จะเป็นโอกาสที่ดีเพราะจะมีข้าราชการราว 40% จะเกษียณอายุในอีก 15 ปีข้างหน้า”
สถาบันอนาคตไทยศึกษาเสนอว่า การปฏิรูประบบราชการควรเริ่มจากขนาดกำลังคนที่เล็กลง ปรับปรุงประสิทธิภาพ และความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมาตรการเช่น ลดจำนวนตัวชี้วัดลงแต่ให้เชื่อมโยงกับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และเพิ่มสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน (pay for performance) ซึ่งถ้ามาตรการเหล่านี้ได้ผล การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการให้สูงขึ้นก็จะไม่เป็นปัญหา
ที่มา : www.thailandfuturefoundation.org