เลขากอศ.โวยรร.สพฐ.สกัดเด็กต่อสายอาชีพ
เลขาฯ กอศ.เผยมี รร.สพฐ.สกัดเด็กไม่ให้เรียนอาชีวะ ไม่ยอมให้โรงเรียนอาชีวะเข้าไปแนะแนวเด็กเรียนต่อสายอาชีพ ด้าน เลขาฯ กพฐ.เชื่อไม่มีใครกล้าขัดนโยบายรัฐบาล
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) วางแผนให้การแนะแนวกับนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดของตัวเอง โดย รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สพฐ.สั่งการไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนเปิดให้สถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทั้งรัฐและเอกชนเข้าไปแนะแนวเด็กในการเรียนอาชีวศึกษา โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของผู้อำนวยการโรงเรียน ว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งตนได้รับเสียงสะท้อนจากประธานกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ว่ามีผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งที่ไม่ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว และบางแห่งยังไม่ยอมปล่อยเด็กให้มาเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งได้มีการแจ้งเรื่องนี้ให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) รับทราบแล้ว ส่วนวิธีการแก้ปัญหานั้น ตนได้ให้ประธาน อศจ.ซึ่งเป็นผู้แทน สอศ.ในคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นำเสนอในคณะกรรมการ กศจ. เพื่อขอให้เป็นตัวช่วยในการทำงาน เพราะเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการทำงานของ กศจ.ด้วย
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ด้านนายการุณกล่าวว่า ตนเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวคงจะมีน้อย เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่สำคัญหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค โดยแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค (คปภ.) มี รมว.ศธ.เป็นประธาน และมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค พร้อมรับโอนอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาที่ถูกยุบ จะทำให้ กศจ.มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผนการจัดการศึกษา และสามารถที่จะพิจารณาโยกย้ายหรือสั่งลงโทษได้ นอกจากนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์สามารถใช้อำนาจข้อ 2 (5) ตามคำสั่ง คสช.ในการสั่งให้ผู้บริหารสถานศึกษาหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือให้พ้นจากตำแหน่งได้ โดยที่ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ดังนั้นคงไม่มีใครกล้าที่จะทำอะไรที่สวนทางกับนโยบายอย่างแน่นอน.
ที่มา : ไทยโพสต์