ข่าวการศึกษา

“หมอประเวศ” ชี้จุดอ่อนเรียนจบไทย “ทำงานไม่เป็น-ไม่อดทน-ขาดความรับผิดชอบ” แนะ 3 ทางเลือกจัดการศึกษา

หมอประเวศเดินหน้าคณะทำงานยุทธศาสตร์ หวังปลดล็อกข้อจำกัดการเรียนรู้ ชี้จุดอ่อนผู้จบการศึกษาไทย “ทำงานไม่เป็น – ไม่อดทน – ขาดความรับผิดชอบ” ดึงกรณี 3 กรณีทางเลือกจัดการศึกษา “โฮมสคูล-สถานประกอบการ – ชุมชน” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย

ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดประชุมเวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ในหัวข้อ “ทางเลือกของการเรียนรู้” เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยนำเสนอกรณีศึกษาทางเลือกของการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัดการศึกษาเครือข่ายบ้านเรียน (Home school) การจัดการศึกษาโดยสถานประกอบการ และการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนโดยวิทยาลัยชุมชน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ประธานที่ประชุม กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ระบบการศึกษาทางเดียวมานาน ซึ่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีหลักการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งการเรียนรู้ควรจะต้องมีหลากหลายทางเลือก เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน จุดอ่อนของผู้ที่จบการศึกษาในระบบของไทย คือ ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน และไม่รับผิดชอบ แต่เราจะพบว่าทักษะทั้ง 3 อย่างนี้มีอยู่ในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ถ้ามีแหล่งการศึกษาที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกของการเรียนรู้หลากหลายช่องทาง เช่น เครือข่ายบ้านเรียนที่กลุ่มพ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษาตามความสนใจของผู้เรียน การจัดการศึกษาของภาคเอกชนเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ขณะนี้มีภาคเอกชนกว่า 400,000 แห่ง ก็จะเป็นการเรียนรู้ด้านอาชีพที่สำคัญ รวมถึงรูปแบบวิทยาลัยชุมชนที่เน้นการเรียนรู้จากข้างล่างขึ้นบนเพื่อผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

“การแก้ปัญหาในเรื่องการศึกษาแบบเดิม ๆ มักติดขัดระเบียบทางราชการ หากเราสามารถรวบรวมผู้ที่มีศักยภาพในสังคม เพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พร้อมกับศึกษาถึงแนวทางที่จะปลดล็อกในเรื่องต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน น่าจะทำให้การแก้ปัญหาเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นจริงได้” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

นางกนกพร สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน กล่าวว่า การจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน หรือ Home School เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนเป็นตัวตั้งโดยสามารถจัดการศึกษาได้ถึง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้โรงเรียนในระบบที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการจัดการศึกษาทางเลือกสามารถทำได้ตามกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีหน่วยงานของรัฐดูแลอย่างเป็นระบบเท่าที่ควร

นางสุภาวดี หุตะสิง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากภาคธุรกิจมีการแข่งขันกันสูงและต้องการพนักงานที่ตรงกับสายงานของบริษัท ขณะเดียวกันยังเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส จึงได้ริเริ่มจัดการศึกษาในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในสถานประกอบการ หลักสูตร ปวช. 2 วิชา คือ วิชาพาณิชยกรรมสาขาธุรกิจค้าปลีก และ วิชาคหกรรมสาขาอาหารและโภชนาการ โดยจะเรียนวิชาการสัปดาห์ละ 2 วัน และฝึกปฏิบัติจริงที่ร้านสาขา 4 วัน จบแล้วมีงานทำบรรจุเป็นพนักงานของเอสแอนด์พี ปัจจุบันเปิดรับเป็นรุ่นที่ 10 แล้ว มีนักเรียนเฉลี่ยปีละ 200 – 250 คน ทั้งนี้ ได้มีระบบแนะแนวและการทดลองเรียนที่ร้านเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าสู่ระบบของศูนย์การเรียนทำให้ลดจำนวนการหลุดออกจากระบบของผู้เรียน

นายศิระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว กล่าวว่า วิทยาลัยเปิดสอนในระดับอนุปริญญา เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในชุมชนได้เรียนใกล้บ้าน โดยหลักสูตรการสอนจะมาจากความต้องการของผู้เรียนที่ตรงกับแนวโน้มการมีงานทำในชุมชน เช่น โลจิสติกส์และการค้าชายแดน การสาธารณสุขชุมชน การเกษตรอินทรีย์ ภาษากัมพูชาเพื่อผุ้ประกอบการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการพัฒนาวิทยาลัยชุมชน คือ การขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา และการรับรองมาตรฐานของหลักสูตร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจัดการในส่วนนี้ด้วย

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการรวบรวมกรณีศึกษาที่ดี ปัญหา และช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อนำสู่การจัดการ ซึ่งมีทั้งกรณีศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อวางยุทธศาสตร์และมีความยืดหยุ่น ไม่เป็นทางการเพื่อเชื่อมโยงทั้งตัวระบบและองค์ความรู้ในการทำงานร่วมกัน

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส กล่าวว่า มนุษย์เราทุกคนต้องการความสุข มันไม่เกิดประโยชน์อะไรหากการเรียนรู้เต็มไปด้วยความเครียด เด็กจะเบื่อและกลายเป็นการเรียนรู้ที่ล้มเหลว จึงต้องสร้างความสุขให้กับนักเรียน โดยให้โอกาสเด็กทุกคนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ อยากเรียน ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจุบันยังต้องให้เรียนรู้เพื่อสอบโอเน็ต ดังนั้น วิธีการเรียนรู้อย่างมีความสุขควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เด็กชอบ สิ่งที่เด็กรัก แล้วค่อยบูรณาการกับสิ่งอื่น ๆ เข้าไป เช่น บูรณาการกับวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ครูจึงมีบทบาทสำคัญเพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้สนุก เข้าใจและก้าวหน้าไปด้วย

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button