ข่าวการศึกษา

แนะเรียนฟรี15ปีให้แค่จนรายได้ต่ำ1.5แสน

“สมพงษ์”มองรัฐควรกำหนดมาตรฐานใหม่ขีดเส้นแบ่ง/ไม่ควรปูพรมแจกทุกฐานะ

“สมพงษ์” มองเรียนฟรี 15 ปีจะได้รับการสนับสนุนทุกรัฐบาลแม้ยังไม่มีกฎหมายลูก เพราะเป็นนโยบายประชานิยมที่เป็นประโยชน์ แต่ควรขีดเส้นแบ่งลำดับชั้นฐานะของผู้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โดยให้สิทธิ์เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 1.5 แสนบาทต่อปีเท่านั้น ไม่ควรปูพรมแจกให้คนทุกระดับ

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะออกประกาศกระทรวงเรื่องการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถึง 15 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และจะมีการออกกฎหมายลูกตามมาภายหลังว่า คิดว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเรียนฟรี 15 ปีแน่นอน เพราะการสนับสนุนการเรียนฟรี 15 ปี ถือเป็นนโยบายประชานิยมที่เป็นประโยชน์ และการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้บรรจุเรื่องการเรียนฟรี 12 ปีไว้ในร่าง รธน. ก็เพราะพิจารณาจากงานวิจัย รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะจากนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา ว่าควรให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ การสนับสนุนการศึกษาในระดับปฐมวัยจึงถือว่าเป็นการสร้างเด็กไทยรุ่นใหม่ เนื่องจากการศึกษาระดับปฐมวัยจะเป็นการสร้างความฉลาดทางการเรียนรู้ ความฉลาดทางอารมณ์ และในประเทศไทยมีกลุ่มเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้รับการศึกษาอยู่กว่า 40% ดังนั้น ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจึงทำให้ต้องมีการพิจารณาใหม่ว่าควรจะให้การสนับสนุนกับคนกลุ่มไหนบ้าง เพื่อเป็นการเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

“ในปัจจุบันเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของการวางอนาคตเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ แต่หากเรายังใช้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่ทำเหมือนการปูพรม ที่ทุกคนได้รับการสนับสนุนเท่ากันหมด ซึ่งเป็นวิธีที่จัดการง่าย ทำให้คุณภาพหรือประสิทธิภาพการศึกษาค่อนข้างกระท่อนกระแท่น ดังนั้น เราจะต้องช่วยเหลือให้ถูกจุด คือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการศึกษาปฐมวัย กลุ่มคนยากจน เป็นต้น เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มที่ และจะส่งผลให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนต่อ 22-25%” อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในร่าง รธน.ได้กำหนดเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา ดังนั้นรัฐจะต้องพิจารณาและตั้งกองทุนให้ดี เช่น ครอบครัวที่ขึ้นทะเบียนรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาท/ปี จะต้องได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง และครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 150,000 บาท/ปี จะได้รับอะไรบ้าง เป็นต้น เพราะหากยังใช้วิธีการสนับสนุนที่เท่ากันหมด เด็กที่ครอบครัวอยู่ในฐานะดีก็จะได้รับการสนับสนุนเท่ากับเด็กครอบครัวฐานะยากจน

“เด็กที่ครอบครัวฐานะดีจะได้หรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ก็จะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับเด็กที่อยู่ในฐานะยากจน เดือดร้อนมากกว่า หากได้รับความช่วยเหลือดูแลนี้ก็จะมีความหมายต่อชีวิตของเขามากกว่าเด็กที่มีฐานะดี” อาจารย์สมพงษ์กล่าว และว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ในปัจจุบันนี้การศึกษาปฐมวัยของเราก็ยังสะเปะสะปะอยู่ เอกภาพของเด็กปฐมวัยที่จะมาเป็นฐานของการสร้างชาติในรูปแบบใหม่ก็ยังไม่มีการกำหนด เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมสร้างเด็กที่ถูกทาง จึงคิดว่าเราควรวางเป้าหมายชาติที่ชัดเจน ให้เป็นตัวบอกว่าเด็กจบการศึกษามาแล้ว คุณลักษณะจะเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ….. จะมีการลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2559 หากมีการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ก็จะมีการพิจารณากฎหมายลูกตามมา แค่กฎหมายลูกอันดับแรกที่คาดว่าน่าจะได้รับการพิจารณาก่อน ก็คือกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ถ้าหากรัฐบาล คสช.เน้นและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาเป็นอันดับแรกๆ ด้วยเช่นกัน ก็คาดว่ากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเรียนฟรีก็จะได้รับการพิจารณาไปพร้อมๆ กัน.

ที่มา : ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button