พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อหารือหลักเกณฑ์ใหม่ในการสอบคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่ห้อง MOC
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญในการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อต้องการให้มีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เป็นคนเก่ง คนดี มีคุณภาพ เข้ามาเป็นผู้บริหารสถานศึกษาให้มากขึ้น เพราะจะส่งผลถึงคุณภาพการศึกษา ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.และ สพฐ. ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งสองได้นำร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่มาหารือในครั้งนี้ ซึ่งได้พิจารณาร่วมกันแล้ว เห็นว่าควรปรับรายละเอียดบางจุดเพิ่มเติมและให้กลับมาเสนออีกครั้ง จากนั้นจะนำไปหารือกับผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) และนักวิชาการได้มีส่วนร่วมพิจารณาตามลำดับ
สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ. มีหลักคิดที่สำคัญคือ จะกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสอบคัดเลือกใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ครู หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ และรองผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีประสบการณ์การสอนมาได้ระยะเวลาหนึ่งประมาณ 8-10 ปี ได้มีโอกาสสอบคัดเลือกเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกตามลำดับที่ และจะให้มีการประกาศมากกว่าตำแหน่งว่างร้อยละ 10 เพื่อให้มีลำดับสำรอง โดยผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดต้องเข้ารับการอบรมแบบเข้มด้วยหลักสูตรใหม่เป็นเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน หากใครไม่ผ่านการประเมิน ก็จะเลื่อนผู้ที่ได้รับการขึ้นบัญชีในลำดับสำรองขึ้นมาแทนที่ทันที โดยจะมีระยะเวลาการขึ้นบัญชี 2 ปี ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สพฐ. เพื่อบรรจุทดแทนอัตราเกษียณ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
ส่วนหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้บริหาร สพฐ.ในปีนี้ ซึ่งจะมีรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษาเกษียณอายุราชการจำนวน 2,544 คน แบ่งเป็นรอง ผอ.สถานศึกษา 506 คน และ ผอ.สถานศึกษา 2,038 คน จะเปลี่ยนแปลงบางส่วน โดยการสอบภาค ก. จะให้ สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ ส่วนภาค ข. ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) แต่ละแห่งเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเอง และยังคงมีการจัดลำดับที่ โดยผู้ที่ได้คะแนนมากจะมีสิทธิ์เลือกสถานศึกษาก่อนตามจังหวัดที่สอบ
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ
URL Copied