นโยบายการผลิตครูในศตวรรษที่ 21
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 407/2559
บรรยาย
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “ครบรอบ 124 ปี การสถาปนาการฝึกหัดครูไทย และวันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครู” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการผลิตครูในศตวรรษที่ 21” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2559 ที่ห้องประชุมอาคาร 1 โดยมี พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 500 คน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวมีความผูกพันกับครูเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าทุกคน ณ ที่นี้ก็ต้องมีความผูกพันกับครูของตนเองเช่นกัน เพราะครูเป็นผู้สอนเด็ก ๆ ทุกคนให้เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังพัฒนาประเทศ ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยการจัดการศึกษามุ่งให้เกิดผลกับเด็กเป็นหลัก เพื่อให้เด็กเป็น “คนเก่ง ดี และมีความสุข” ซึ่งมีปัจจัยสำคัญใน 3 ส่วนหลักคือ สังคม โรงเรียน และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนซึ่งมีครูเป็นส่วนสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศ
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
แต่ในปัจจุบัน กลับพบว่าระบบการผลิตครูมีปัญหาในหลายส่วน กล่าวคือ – สถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรวิชาชีพครูมากเกินความจำเป็น บางแห่งเปิดสอนก่อนที่หลักสูตรจะได้รับการรับรอง – สถาบันผลิตครูมีมาตรฐานที่ต่างกันมาก เนื่องจากมีจำนวนมาก – หลักสูตรของสถาบันผลิตครู ไม่ได้เน้นการบูรณาการของสมรรถนะการสอนใหม่ๆ ไม่เน้นความรู้เชิงบูรณาการด้านเนื้อหา เทคนิคการสอน และคุณลักษณะความเป็นครู นอกจากนี้ยังไม่ได้เตรียมนักศึกษาครูให้มีนวัตกรรมการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิด – หลักสูตรของสถาบันผลิตครู ในช่วงปีที่ 1-4 เน้นภาคปฏิบัติน้อย และไม่ได้เน้นการปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนแบบใหม่ๆ อาทิ ทักษะการทำงานร่วมกันของครู ทักษะการสังเกตแนวคิดของนักเรียน และทักษะการสะท้อนการปฏิบัติงานร่วมกัน – การเปิดโอกาสให้สถานศึกษารับครูที่ไม่มีคุณวุฒิครูเข้ามาทำการสอนก่อน และค่อยไปขอใบประกอบวิชาชีพภายหลัง – การขาดความเข้มงวดจริงจังของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน หลักสูตรของสถาบันผลิต
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบผลิตครู เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการจัดทำหลักสูตรการผลิตครูให้มีความเข้มแข็งดังเช่นในอดีตด้วย ดังนั้น ภาพ
ทั้งนี้ ได้มอบให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูมาเสนอ โดยขอให้เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตวิทยาเด็กพิเศษ จิตวิทยาการเรียนการสอน จิตวิทยาครูว่าด้วยการลงโทษ การสร้างแรงจูงใจ เทคนิคการสอน ทักษะการพูดและดึงดูดความสนใจได้ ส่วนโครงสร้างหลักสูตร ควรกำหนดสัดส่วนหน่วยกิตในแต่ละหมวดให้มีความสมดุลและครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งหมวดทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะด้าน และหมวดวิชาเลือกเสรี
นอกจากนี้ ในอนาคตครูต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ที่เด็กต้องได้รับการประเมินผลตาม “โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ” (Programme for International Student Assessment : PISA) ด้วย ได้แก่ การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ การรู้เรื่องการอ่าน และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปี 2018 ที่จะมีการเพิ่มเรื่องการประเมินสมรรถนะเกี่ยวกับโลก ความสามารถในการตอบสนองต่อบุคคลเมื่อต้องอยู่ร่วมกันในความหลากหลายทางการศึกษาและวัฒนธรรมด้วย ดังนั้นครูจะต้องรู้เรื่องเพื่อไปสอนเด็กให้อยู่ในโลกได้ มิใช่สอนเพื่อการแข่งสอบ PISA เท่านั้น
ส่วนระบบผลิตครูในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางแบ่งสัดส่วนการผลิตเป็น 25:40:35 ของอัตราเกษียณอายุราชการ ประกอบด้วย
-
โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 25% เพื่อผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2559 เป็นปีแรก และมีผู้สมัครได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 4,079 อัตรา
-
การผลิตครูระบบปิด 40% โดยเริ่มจากการจัดทำแผนอัตราการทดแทนครูที่เกษียณ พร้อมทั้งให้สถาบันผลิตครู 98 แห่ง ส่งแผนงานการผลิตผู้เรียน เพื่อจะได้จัดสรรโควตาตามขีดความสามารถของแต่ละแห่ง จากนั้นจะจัดสรรงบประมาณค่าหัวเพิ่มให้ตามจำนวนที่ได้รับโควตา ทั้งนี้จะมีการนำจำนวนนักศึกษาที่ผ่านการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาใช้ประกอบการจัดสรรโควตาในปีต่อไป
-
การผลิตครูระบบเปิดทั่วไป 35%
รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยกับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า การปรับหลักสูตรผลิตครู เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นมีความเห็นตรงกันว่าต้องปรับหลักสูตร เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน และได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อรวบรวมและ Mapping ข้อมูลและแนวทางเกี่ยวกับการผลิตครูที่หลายฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศนำมาเสนอไว้ โดยวางเป้าหมายที่จะนำมาทดลองใช้ผลิตครูในปีการศึกษา 2560 ส่วนสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏก็กำลัง Re-Profile เพื่อปรับปรุงตัวเองเช่นกัน โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ต้องมีความเป็นเลิศด้านการผลิตครู นั่นคือคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะต้องเก่งกว่าคณะอื่น และหากมีส่วนใดที่ต้องการการสนับสนุน ก็สามารถมาหารือร่วมกันได้
นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานเลขาธิการคุรุสภารวบรวมรายละเอียดเรื่องนี้มาเสนอ โดยได้ให้แนวคิดไปแล้วว่า ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบตัวเอง โดยที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องเข้าไปยุ่งมากเกินไป และต้องการให้ทุกคนสู้ด้วยคุณภาพของตัวเอง ซึ่งต้องรอปรับปรุงหลักสูตรให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะเริ่มต้นการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ โดยขออย่าให้ผู้ที่เรียนครูปีที่ 5 เป็นกังวล เพราะยังได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติอยู่ แต่หลังจากเปลี่ยนหลักสูตรแล้วจึงจะเริ่มต้นสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไป
ที่มา: ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ