รมช.ศธ.เล็งบรรจุ “คลินิกหมอครอบครัว” ลงแผนการเรียนการสอน
สธ. ร่วม ศธ. ผลิตบุคลากร “คลินิกหมอครอบครัว” มั่นใจ 10 ปี คนไทยจะมีทีมหมอครอบครัว 6,500 ทีม ดูแลทั่วถึง ด้าน รมช.ศึกษาฯ เผย เล็งบรรจุเรื่องคลินิกหมอครอบครัวลงแผนการเรียนการสอน สร้างมุมมองทีดีแก่หมอรุ่นใหม่ๆ ชงใช้ ม.44 ลุยข้อจำกัดด้านกฎหมาย
วันนี้ (3 พ.ย.) ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีการเชิญ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา (ศธ.) บรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนานโยบายคลินิกหมอครอบครัว” โดยมีการถ่ายทอดไปยังหน่วยงานภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในมุมมองของ ศธ. ในฐานะผู้ร่วมผลิตบุคลากรกับ สธ.
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า นโยบายคลินิกหมอครอบครัวของ สธ. ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งการทำงานให้สำเร็จนั้น เป้าหมาย และกระบวนการดำเนินงานต้องชัดเจน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบ นอกจากนี้ ขอให้คำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้ 1. ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และตระหนักว่านโยบายนี้ตอบสนองความต้องการของประชาชน 2. บรรจุนโยบายนี้ในแผนการเรียนการสอน สร้างมุมมองที่ดีในการทำงานให้แพทย์รุ่นใหม่ๆ โดยความร่วมมือกับราชวิทยาลัย ที่ผลิตบุคลากร 3. ในการทำงานที่มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย อาจประกาศใช้มาตรา 44 ออกระเบียบ กฎหมายให้การทำงานเดินหน้าไปได้ เช่น ที่กระทรวงศึกษาฯได้ดำเนินการ 4. ใช้บุคลากรที่มีอยู่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จ เช่น ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มีส่วนร่วมในการเป็นทีมหมอครอบครัว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นบรรยากาศที่ดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานระหว่าง สธ. และ ศธ. ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูประบบการทำงานในกระทรวงเช่นกัน ข้อเสนอแนะในการทำงานจาก รมช.ศธ. ผู้บริหาร / ผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายนี้ จะได้นำไปเป็นข้อคิดและปรับใช้ในการทำงาน ทั้งนี้ นโยบายคลินิกหมอครอบครัว เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในระบบการสาธารณสุขไทย แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดบริการให้ประชาชน โดยกระจายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวไปดูแลประชาชนถึงระดับตำบลในลักษณะเครือข่ายบริการ ประชาชนได้รับการดูแลแบบองค์รวมในทุกมิติด้วยทีมหมอครอบครัวในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่ง สธ. ได้วางแผนดำเนินการครอบคลุมทั้งการผลิตบุคลากร โครงสร้าง และระบบการทำงาน มั่นใจว่า 10 ปี คนไทยจะมีทีมหมอครอบครัวจำนวน 6,500 ทีม ดูแลอย่างทั่วถึง
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์