เสนอเรียนรวมเด็กพิเศษ-ปกติใส่แผนศึกษาชาติ
สกศ.เสนอบรรจุการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมทั้งเด็กพิเศษและเด็กปกติไว้ในแผนการศึกษาชาติ นิยามให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม เชื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับนายเดวิด บาร์ทรัม โอเบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ในฐานะผู้แทนบริติช เคานซิล ประเทศไทย หลังจากที่นายเดวิด และคณะนักวิชาการ สกศ. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามเรื่องการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาร่วมระหว่างเด็กปกติและเด็กพิเศษ โดยกลุ่มตัวอย่างคือ โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากการหารือทำให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน 2 เรื่อง คือ 1.ควรมีการบรรจุนโยบายการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ เพราะการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจะช่วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพการศึกษา สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และ 2.ควรนิยามความหมายการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และจัดการศึกษาที่มีความเชื่อมโยงทั้งผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และบุคคลปกติในสถานศึกษาเดียวกัน ไม่แยกส่วนการเรียนเช่นปัจจุบัน โดยเน้นที่สถานศึกษาควรดูแลเด็กทั้งระบบ ภายใต้ความร่วมมือทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และทุกภาคส่วน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
“การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมนั้นมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แผนการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพราะทุกฝ่ายเห็นว่าควรจะต้องสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ว่า คนไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อจะส่งผลถึงการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขด้วย” เลขาฯ สกศ.กล่าว.
ที่มา : ไทยโพสต์