ข่าวการศึกษา

สพฐ.ย้ำขาดครูหนักต้องเปิดช่องไม่มีตั๋วสอบครู

“การุณ” แจงสพฐ.ผู้ใช้ครูพบปัญหาบางสาขาเปิดสอบไม่มีผู้สมัคร สอบไม่ผ่านปัญหาที่สะสมทำให้เด็กไม่มีครูสอน ย้ำ 2 ปีประเมินมาตรฐานตำแหน่งไม่ผ่านพ้นจากความเป็นครู

         จากมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) อนุมัติให้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยเปิดให้ผู้ที่ไม่มีอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาสมัครสอบได้ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างทั้งสนับสนุนและคัดค้านมติดังกล่าว

   นายการุณ สกุลประดิษฐ์เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชี้แจงว่า มติดังกล่าวมีผลในทางบวกกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้ใช้ครู  เพราะเป็นปัญหาหลักที่ได้พบจากการเปิดการสอบแข่งขันและบรรจุครูผู้ช่วย 4 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่พ.ศ.2557-2559 พบว่ามี 11 วิชาเอก คือ ภาษาเกาหลี,ภาษาเวียดนาม,ภาษาพม่า,ภาษาเยอรมัน,ภาษาสเปน,ภาษาอาหรับ,ดนตรี/นาฏศิลป์,ดนตรีสากล(ดุริยางค์),ออกแบบนิเทศศิลป์,วิจัยทางการศึกษา และกายภาพบำบัด ที่เปิดสอบแล้วไม่มีผู้สอบแข่งขันขึ้นบัญชีได้เลย และบางปีในบางวิชาก็ไม่มีผู้สมัครสอบเลย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ขณะที่ จากการจัดสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ประจำปี 2559 ที่มีผู้สมัครเกือบ 1.3 แสนคน โดยเฉพาะวิชาหลัก คือ วิทยาศาสตร์ สมัคร 9,508 คน ผ่านขึ้นบัญชี 874 คน คิดเป็น 9.19%,วิทยาศาสตร์ทั่วไป สมัคร4,302 คน ขึ้นบัญชี 238 คน คิดเป็น 5.53%, ฟิสิกส์ สมัคร 1,879 คน ขึ้นบัญชี 268 คน คิดเป็น 14.26%, เคมี สมัคร 1,920 คน ขึ้นบัญชี 305 คน คิดเป็น  15.89%, ชีววิทยา สมัคร 2,469 คน ขึ้นบัญชี 461 คน คิดเป็น 18.67%,

คณิตศาสตร์ สมัคร 10,924 คน ขึ้นบัญชี 1,710 คน คิดเป็น 15.65%,ภาษาไทย สมัคร 9,942 คน ขึ้นบัญชี 1,190 คน คิดเป็น 11.97%,ภาษาอังกฤษ สมัคร 12,961 คน ขึ้นบัญชี 1,504 คน คิดเป็น 11.69% และสังคมศึกษา สมัคร 14,375 คน ขึ้นบัญชี 892 คน คิดเป็น 6.21% ถือว่ามีผู้สอบขึ้นบัญชีได้น้อยมาก

“สพฐ.ได้นำปัญหาต่างๆเหล่านี้เข้าหารือในที่ประชุม ก.ค.ศ.ว่าเราจะปล่อยให้เด็กขาดครูอยู่แบบนี้หรือ ดังนั้น มติการเปิดให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตฯมาสมัครสอบก่อนแล้วอบรมพัฒนาให้ได้ใบอนุญาตฯ ในภายหลัง จึงถือเป็นการเปิดทางให้ สพฐ.แก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน ให้สามารถคัดเลือกผู้ที่ไม่มีอนุญาตฯ แต่มีความรู้ความสามารถตรงสาขามาเป็นครู ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กเสียโอกาสในการได้ครูมาสอน เพราะติดล็อคในข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตฯ และไม่ใช่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ผลิตครูออกมาไม่ดี แต่ สพฐ.ในฐานะผู้ใช้ครู ก็อยากได้คนเก่งๆมาช่วยเสริมในการสอน เพราะการสอนในยุคนี้การลงเนื้อหาวิชาหลักมีความสำคัญ เช่น สอนสะเต็มศึกษาเพื่อให้เด็กได้สร้างนวัตกรรม ถ้าครูไม่รู้ลึกในวิชาการที่แท้จริงเด็กก็จะไม่มีทางเข้าใจ”นายการุณ กล่าว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ไม่มีใบอนุญาตฯ สอบบรรจุได้ ก็จะมีอบรมเทคนิคการสอน การจัดทำแผนการสอน และมีครูพี่เลี้ยงคอยประกบให้คำแนะนำ ภายในระยะเวลา 2 ปีที่เป็นครูผู้ช่วยอยู่ ก็จะต้องเข้ารับการอบรมตามที่คุรุสภากำหนดเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งถ้ายังไม่ได้รับใบอนุญาตฯอีก แต่ประเมินครูผู้ช่วยผ่านก็จะมีเวลาอีก 2 ปีในการอบรมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ

แต่ในกรณีที่ประเมินตำแหน่งครูผู้ช่วยไม่ผ่านก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นครู เพราะเป็นการบรรจุ โดยมีเงื่อนไขเราไม่มีตำแหน่งอื่นรองรับ อย่างไรก็ตาม ในการเปิดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ประจำปี 2560 จะมีกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของตำแหน่งต่างๆไว้ ซึ่งผู้จะสมัครสอบต้องไปดูว่าสามารถในสาขาใดได้บ้าง

ส่วนเรื่องการมีใบอนุญาตฯหรือไม่มีใบอนุญาตฯ สพฐ.จะมีการทำวิจัยเพื่อดูผลที่ออกมาอีกครั้ง ทั้งนี้ จากการบรรจุนักศึกษาในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ก็มีผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ได้รับการบรรจุไป 381 คน ผ่านมาประมาณ 4 เดือนเมื่อกลับไปถามทางโรงเรียนและเด็กก็พอใจครูเหล่านี้ เพราะเก่ง สอนเข้าใจ

ที่มา : คมชัดลึก

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button