ข่าวการศึกษา

นักวิชาการชม รมต.ศธ.ถอยครึ่งทาง ปรับเกณฑ์สอบครูผู้ช่วยใหม่ คาใจเกณฑ์วัดสาขาขาดแคลนเรื้อรัง

วันที่ 28 มีนาคม 2560 ภายหลังนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถสมัครครูผู้ช่วยจนเกิดเสียงทักท้วงจากครู นักเรียนสายครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์อย่างกว้างขวาง จนที่สุดต้องปรับแนวการรับสมัครให้ผู้สมัครต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 36 สาขาวิชา และส่วนที่เหลืออีก 25 สาขาวิชาจะมีใบอนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาตมาสมัครก็ได้นั้น

ล่าสุดผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณะบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า ต้องขอชื่นชม รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ที่ยอมถอยออกมาคนละครึ่งทาง แต่ถึงอย่างไรก็ตามในระยะยาวหลังจากที่มีการสอบครั้งนี้ไปแล้ว ต้องให้มีการทบทวนใหม่ ใน 2 ประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ในกรณีที่สอบบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วยโดยที่ไม่มีใบอนุญาตวิชาชีพครู แล้วให้ไปเรียนเพื่อให้ได้ใบอนุญาตในภายหลัง จะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

“ประเด็นที่ 2 ควรที่จะแยกครูที่จำเป็นต้องใช้ในสาขาที่ขาดแคลนอย่างมาก โดยเฉพาะครูในสังกัดกรมอาชีวศึกษา ให้ออกจากกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มครูวิศวะ ครูสถาปัตย์ และครูบัญชี เหล่านี้บรรจุไม่ได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของ สพฐ.บรรดาครูขาดแคลนมีน้อย จะมีก็เพียง ครูภาษาจีน ครูภาษาเยอรมัน เท่านั้น จึงจำเป็นต้องไปเขียนในกฎหมายระบุไว้ให้ชัดเจนว่าสามารถยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้อย่างไร มีกระบวนการอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ทำผิดกฎหมาย” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

ผศ.ดร.อดิศร กล่าวอีกว่า แต่ในส่วนการประกาศรับสมัครสอบในครั้งนี้ ที่เห็นเป็นประเด็นคือสาขาที่อ้างว่าขาดแคลนเรื้อรัง ซึ่งไม่รู้ว่าเอามาตรฐานอะไรมาเป็นเกณฑ์วัด เพียงแต่บอกว่ามีผู้สอบบรรจุได้น้อยเท่านั้น สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป สาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผู้เรียนจบออกมาเต็มบ้านเต็มเมืองขณะนี้ แต่สอบบรรจุได้น้อยเอง กลับถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มขาดแคลน และเปิดให้สอบบรรจุได้โดยที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตวิชาชีพครู

“ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนกระบวนการคัดเลือกครูใหม่ทั้งระบบ โดยจะต้องมีวิธีคัดเลือกครูมากกว่าใช้เพียงวิธีสอบคัดเลือกเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องตั้งทีมทำงานปฏิรูประบบผลิตครูใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้สามารถตอบโจท์กับจำนวนของครูที่จำเป็นต้องใช้ พร้อมกันนี้เมื่อได้ครูมาทำงานแล้ว ก็ควรลดงานที่ทำเกี่ยวกับเอกสารลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ครูมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

ที่มา : มติชน

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button