รมว.ศธ.กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษาไทยกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ”
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 125 ปี เมื่อวันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2560
เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษาไทยกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ดังนี้
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
กระทรวงศึกษาธิการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ข้อ ประกอบด้วยความมั่นคง, การสร้างความสามารถในการแข่งขัน, การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์, การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การวิเคราะห์ผลการสอบ PISA ของนักเรียนไทย และนักเรียนจากประเทศอื่นทั่วโลกที่เข้าร่วมการทดสอบ PISA พบว่าคะแนนเฉลี่ยในแต่ละวิชาของเด็กไทยยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่หากดูคะแนนสูงสุดของเด็กไทยในแต่ละวิชา พบว่ามีคะแนนมากกว่านักเรียนสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่ง แต่การที่คะแนนเฉลี่ย PISA ของเด็กไทยได้อันดับต่ำ เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมกับโรงเรียนในชนบทที่ยังขาดการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยการวิเคราะห์พบว่าเด็กไทยมีความเหลื่อมล้ำกันเองถึง 7 ปีการศึกษา ซึ่งไม่มีประโยชน์หากเราทำให้คนที่ได้คะแนนสูงอยู่แล้วได้คะแนนสูงขึ้นไปอีก ในขณะที่คนที่ได้คะแนนต่ำก็ยังคงได้คะแนนต่ำอยู่อย่างนั้น เราจึงต้องมีแนวทางในการพัฒนาการศึกษา และช่วยดูแลเด็กที่ได้คะแนนต่ำ เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างนักเรียนที่ได้คะแนนดีและนักเรียนที่ได้คะแนนไม่ดี
สำหรับการจัดการศึกษานั้นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของระบบการศึกษาที่ดี ดังเช่น Vivian Stewart ผู้เขียนหนังสือ A World-Class Education ได้เสนอองค์ประกอบของระบบการศึกษาที่ดีระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 8 ประการ ได้แก่
1) การมีวิสัยทัศน์และภาวะความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง คือ การเล็งเห็นว่าประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป และต้องกล้าตัดสินใจที่จะทำ
2) การตั้งมาตรฐานระดับสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐานที่สูง เพื่อไปให้ถึงดวงดาว
3) ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยต้องมีความมุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในต่างจังหวัดและโรงเรียนในเมืองให้ได้ และต้องไม่มองจากสังคมคนมี หรือสังคมคนเมือง ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการแล้วในหลายวิธีการ เช่น โครงการโรงเรียน ICU, DLTV, DLIT เป็นต้น
4) การได้มาและการคงไว้ซึ่งครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพ
5) ความร่วมมือในการทำงานของทุกภาคส่วนที่สอดคล้องกัน ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการได้ประสานความร่วมมือในการดำเนินนโยบายและโครงการต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย
6) การบริหารจัดการที่ดีและการมีความรับผิดชอบ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนแนวทางการประกันคุณภาพและประเมินคุณภาพในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่เน้นการประเมินโดยใช้กระดาษ เป็นต้น
7) การสร้างแรงจูงใจแก่เด็กนักเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่คนไม่ค่อยสนใจ เพราะที่ผ่านมาผู้ใหญ่ให้ความสนใจแต่การเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น
8) การมุ่งเน้นพัฒนาเพื่ออนาคตในระดับโลก ด้วยการมองไปข้างหน้า และมองโลกให้กว้างไกล
นอกจากองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการศึกษาที่ดี นพ.ธีระเกียรติ ยังได้กล่าวถึง “คำถามเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรครู” โดยขอให้ทุกฝ่ายฉุกคิดและกลับไปสะท้อนภาพการศึกษาไทยในปัจจุบันว่าสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งมีคำถาม 12 ข้อ คือ
1) ในขณะนี้คุณภาพครูเป็นอย่างไร ทั้งในระดับโรงเรียน เขต และประเทศ
2) มีปัญหาขาดครูหรือไม่ในระดับภูมิภาคหรือไม่ และขาดในรายวิชาใดบ้าง
3) นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความเห็นเกี่ยวกับอาชีพครูอย่างไร
4) มีกลยุทธ์การเชิญให้เด็กนักเรียนที่เก่ง และมีความมุ่งมั่นในวิชาชีพครูมาสมัครเรียนครูหรือไม่
5) ระดับเงินเดือนเริ่มต้นของครูในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นเป็นอย่างไร
6) ความเข้มงวดในกระบวนการคัดสรรคนที่มาสมัครเป็นครูเป็นอย่างไร
7) สถาบันอบรมครูมีศักยภาพในการผลิตครูมากน้อยเพียงใด และควรพัฒนาปรับปรุงในเรื่องใด
8) ครูที่จบใหม่ทุกคนได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครูอาวุโสอย่างน้อย 1 ปีหรือไม่
9) มีระบบการประเมินครูประจำปีที่ดีหรือไม่
10) มีแผนพัฒนาครูที่ครอบคลุมเป็นระบบหรือไม่
11) มีระบบที่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพหรือไม่
12) ระบบการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษามีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงพัฒนาหรือไม่
ซึ่งหากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ จะทำให้เรามองเห็นทิศทาง และแนวทางในการพัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของครูในประเทศได้อย่างเหมาะสม
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า จากที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นว่าตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการมีกลยุทธ์ในการพัฒนาการศึกษาที่ชัดเจนแล้ว ขอบคุณทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน เพราะสิ่งที่เราทำในวันนี้อาจไม่เห็นผลทันตา แต่จะมีผลกับการศึกษาไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า สุดท้ายแล้วเราคือพวกเดียวกันและต้องเดินไปด้วยกัน
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ