ข่าวการศึกษา

ม.ล.ปนัดดา ประชุมชี้แจงการปฏิรูปการศึกษา ศธ.ในภูมิภาค

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะข้าราชการและเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค 3 จุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคใต้ที่สงขลา และภาคกลางที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ม.ล.ปนัดดา ประชุมชี้แจงการปฏิรูปการศึกษา ศธ.ในภูมิภาค

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

7 เมษายน 2560 : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ณ โรงแรมอวานี คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.เมืองขอนแก่น

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้พบปะผู้บริหาร ครูอาจารย์ ศึกษานิเทศก์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด จำนวน 1,700 คน และบรรยายเรื่อง ‘ภารกิจสำคัญของโรงเรียนคุณธรรม และโครงสร้างสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด’ ตอนหนึ่งดังนี้

“โครงการโรงเรียนคุณธรรมและโครงการศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด สอนเราให้รู้และเข้าใจการทำงานร่วมกับผู้อื่นเรื่องการกระจายอำนาจทางการบริหาร และการสร้างความเป็นเอกภาพทางการบริหารให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ แต่ชีวิตทั้งชีวิตของเรานี้เกิดมาหาใช่ดำรงอยู่เพื่อใครที่ไหนกันเสียอีก นอกจากบุพการีและต่อไปในอนาคตก็เพื่อภริยาหรือสามี หัวหน้าครอบครัว และลูกหลาน อีกส่วนหนึ่ง คือ ครูและศิษย์

แต่ละครอบครัวและสถานศึกษาย่อมคิดได้ด้วยความรอบคอบถี่ถ้วนที่บรรพชนท่านใช้คำพูดสอนไว้ว่า ชีวิตของคนไทยคนหนึ่ง ทำความดีเข้าไว้ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญเข้าไว้ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก แต่ให้มุ่งมั่นขวนขวายศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นตัวตั้ง เป็นเกราะกำบังตัว ชีวิตคนทุกคนอยู่กันด้วยเกียรติยศของความซื่อตรง ไม่ให้ร้ายป้ายสีใคร ไม่เอาเปรียบใครผู้ใด

แต่ละครอบครัวและบ้านเรือน แต่ละโรงเรียนจะดำรงอยู่ได้ด้วยความดีอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นกัน ร่วมมือร่วมใจกันเสริมสร้างความรู้รักสามัคคีตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน”

8 เมษายน 2560 : ภาคใต้
โรงแรมบีพี แกรนด์ ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (ครั้งที่ 3) พร้อมทั้งบรรยายเรื่อง ‘โรงเรียนคุณธรรม’ โดยได้กล่าวกับข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ดังมีใจความตอนหนึ่งดังนี้

“ความโศกเศร้าเสียใจของเราทุกคนในเวลานี้ ต้องกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้ทุกคนมีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น อดทน และเสียสละมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าทวีคูณ ครูอาจารย์และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นข้าราชการผู้ทำหน้าที่สำคัญในการนำพาอนาคตของชาติคือลูกหลานเยาวชนสู่ความมั่นคงปลอดภัย สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ลูกหลานเยาวชนเป็นผู้ตั้งมั่นหมั่นศึกษา เรียนดี เป็นคนดี มีวิชา บุพการีต้องช่วยกับครูอาจารย์ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้เป็นเรื่องจริงและสัมผัสได้ ได้แก่ ดำรงความซื่อตรง ความประหยัด ความเป็นสุภาพชน มีความรับผิดชอบ มีความขยันหมั่นเพียร

ที่สำคัญยิ่ง คือ การยืนหยัดรักษาความดีและความถูกต้อง ไม่ใช่พูดว่า ฉันเก่งแต่กลับทุจริตคดโกง เอาความใหญ่ความโตของที่บ้านมาโอ้อวดเพื่อนฝูงเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตนอย่างผิด ๆ คนไทยไม่มีอัตลักษณ์เช่นนั้นแต่ไหนแต่ไรมา

หรืออย่างเช่นคำว่า ‘เจียมเนื้อเจียมตัว’ เดี๋ยวนี้ก็แปลกันอย่างผิด ๆ เรียกว่าไม่รู้จริง บ้างแปลว่าเหมือนคนไม่มีอะไรดี สู้คนอื่นเขาไม่ได้ ไม่คบหาสมาคมกับใคร ทั้งที่ตามจริงแล้วปู่ย่าตายายสอนลูกหลานไทยมาเช่นนี้ ให้ลูกหลานมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เหิมเกริม ไม่หลงตน และกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความสุขุมรอบคอบและมีความรับผิดชอบ เกิดความบกพร่องผิดพลาดแต่เพียงน้อยหรือไม่เกิดขึ้นเลย ตรงกับคำพูดภาษาอังกฤษว่า ‘be modest’

การยึดมั่นความดี มีไอดอลในการเลียนแบบ หรือเป็นตัวอย่างแก่ชีวิตคนในการดำรงชีวิต และมีสัมมาชีพอันสุจริต สำหรับความร่ำรวย การเรียนสูงของบุคคลหาใช่เป็นคำตอบแห่งความสำเร็จในทุกเรื่องไป บ้างขาดอัธยาศัยไมตรี บ้างขาดความจริงใจและไมตรีจิตต่อกัน บ้างไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเมื่อขาดหลักคุณธรรมยึดเหนี่ยว

มีคำตอบเดียวแก่ชีวิตคน คือ บำเพ็ญคุณความดีเพื่อตน ครอบครัว และองค์กร บ้านเมืองไทยจะน่าอยู่ขึ้นเป็นอันมาก

ในท้ายสุดนี้ ขอฝากเป็นข้อคิดสำคัญที่ว่า คนกระทรวงศึกษาธิการควรดำรงมั่นในความเข้าใจอยู่เสมอว่า กระทรวงศึกษาธิการเกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นครูของแผ่นดิน เป็นแบบอย่างที่งดงามยิ่งให้แก่เราทุกคน คนกระทรวงศึกษาธิการต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ในเชิงของการทุจริตคอร์รัปชัน และดำรงตนเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานเยาวชนและผู้คนในสังคมสืบไป”

นอกจากนี้ ได้กล่าวฝากถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งถือเป็นคำตอบแก่ชีวิตและเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมแก่ครอบครัวและสังคม เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมคุณภาพ โดยการศึกษากับการปกครองต้องผสานควบคู่กัน สร้างสังคมสุจริตธรรม ประกอบด้วยองค์กรที่ต่างยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล และเรื่องการศึกษาต้องถือเป็นวาระสำคัญอันดับ 1 ของประเทศ”

9 เมษายน 2560 : ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร
โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ กรุงเทพฯ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ครั้งที่ 4 ภาคกลาง โดยมีผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษาจาก 25 จังหวัดภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกว่า 1,200 คน ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์

นอกจาก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้บรรยายเกี่ยวกับภารกิจสำคัญของโรงเรียนคุณธรรมข้างต้นแล้ว ได้กล่าวตอนหนึ่งเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคให้สำเร็จว่า ต้องอาศัยความรักความสมัครสมานสามัคคีของข้าราชการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนครูบาอาจารย์ ในการช่วยกันดำเนินงานให้มีความก้าวหน้าต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายสู่การพัฒนาการศึกษาของลูกหลานเยาวชนให้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

จากการจัดการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 17 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด, ภาคใต้ 14 จังหวัด, ภาคกลาง 25 จังหวัดและกรุงเทพมหานครนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับเสียงสะท้อนกลับทั้งความพึงพอใจ ความไม่พึงพอใจ วิธีการขับเคลื่อนงานอย่างหลากหลาย ตลอดจนข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงต้องการจะเรียนให้ทราบว่า การที่ข้าราชการบางตำแหน่งต้องถูกเกลี่ยไปอยู่หน่วยงานอื่น เข้าใจความรู้สึกนี้ดี เพราะแม้ใจไม่ต้องการไป แต่ก็ต้องไป เป็นวิถีโดยธรรมชาติของการปฏิบัติราชการที่จะต้องมีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ได้

ในฐานะที่เป็นข้าราชการของแผ่นดินทำงานรับใช้ประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน ขอให้ข้าราชการทุกคนเชื่อมั่นว่า เรามีพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชคุ้มครองอยู่ ตราบใดที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง พระองค์ผู้ซึ่งทรงหลักทศพิธราชธรรมในการทรงงานเพื่อทวยราษฎร์ตลอดแผ่นดินรัชกาลที่ 9 พร้อมความพยายามของทุกคนในการที่จะทำงานด้วยความเที่ยงธรรม ถูกต้อง ยึดหลักธรรมาภิบาล ความซื่อตรง ประพฤติปฏิบัติชอบ ครองตน ครองงานอย่างสุดความสามารถ เท่านี้เราก็เป็นข้าราชการในวงการศึกษาที่สมควรแก่การที่พ่อแม่ผู้ปกครองฝากความหวังความสำเร็จไว้แล้ว

การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค โดยศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนมีคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดให้ครบองค์ประกอบ เพื่อบรรเทาแบ่งเบาภารกิจที่ต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือและขบคิดเรื่องต่าง ๆ เป็นเวลานาน อีกทั้งยังเป็นการลดเวลาจากการเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย โดยยึดหลักสำคัญคือ “การศึกษากับการบริหารราชการเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป” จะแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งการขับเคลื่อนงานของสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีสิ่งที่ควรคำนึงถึง 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) การบริหารจัดการศึกษาระดับภาคและจังหวัด เป็นการวางแนวทางการบริหารจัดการศึกษา โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก เพื่อกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา และขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) รวมทั้งยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ 20 ปีอีกด้วย

2) การจัดโครงสร้างของสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัด จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ในนามราชการส่วนกลางลงไปในพื้นที่ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี พร้อมทั้งฝากเรื่องนโยบายสำคัญ เช่น โรงเรียนคุณธรรม เป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยจะเริ่มต้นในปีการศึกษา 2560 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 30,000 แห่ง และในอนาคตจะขยายไปสู่โรงเรียนเอกชน 4,463 แห่ง สถานศึกษาอาชีวะ 428 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,545 แห่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ย้ำกับสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้มีการปฏิบัติโดยพร้อมเพรียง ได้แก่ 5 มาตรการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรม และ 7 ตัวชี้วัดคุณธรรม ได้แก่ มีกระบวนการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโรงเรียน, มีกลไกคณะทำงานและใช้โครงงานคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม, พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น, พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ในโรงเรียนลดลง, เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา คุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, มีองค์ความรู้ นวัตกรรม การสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน, เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนคุณธรรม ชื่อยอมรับว่าความสำเร็จในเรื่องนี้จะต้องอาศัยเวลา เพราะเน้นเชิงคุณภาพไม่เน้นปริมาณ

3) บทบาทของสำนักงานศึกษาธิการภาค จะทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และการพัฒนาการศึกษาของภาค ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด

4) การบริหารจัดการของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีลักษณะของการบริหารราชการที่ผสมผสานระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค มุ่งหวังเพื่อให้การจัดการศึกษาของชาติในระดับจังหวัดมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ในการสนับสนุนการจัดการศึกษา

5) การมีสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัดจะเกิดประโยชน์ ดังนี้

– มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในภูมิภาคอย่างใกล้ชิดมากขึ้น จึงขอให้ความสำคัญในการทำงานประสาน และให้เกียรติในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แวดวงการศึกษา

– กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่จัดการศึกษาอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

– กระทรวงศึกษาธิการ จะกระจายอำนาจจากองค์กรหลัก มายังศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดมากขึ้น คือ กระจายงาน งบประมาณ และบุคลากร ซึ่งจะส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลางมีขนาดเล็กลง และเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษา อาชีวศึกษาที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด จะมีความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มมากขึ้น

6) สิ่งที่ข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการจะพึงปฏิบัติในระดับภาคและจังหวัด

– จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน คือ ราชการส่วนกลาง ซึ่งมี 1 สำนักนายกรัฐมนตรี และ 19 กระทรวง รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรอิสระต่าง ๆ, ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมี 76 จังหวัด และ 878 อำเภอ, ราชการส่วนท้องถิ่น คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน) เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

– มีความเข้าใจในระบบการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด

– การทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ ในจังหวัด

– ความเป็นผู้มีธรรมาภิบาลและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนั้น ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวแนะนำหนังสือ “ดุจดวงตะวัน” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาทิ โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนราชประชาสมาสัย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4,685 โครงการ เพื่อเป็นแบบอย่างในการทำงาน รวมทั้งหนังสือ “ท่ามกลางประชาชน” และหนังสือ “หน้าที่พลเมือง” ที่คนในวงการศึกษา โดยเฉพาะครูอาจารย์ควรศึกษาไว้ เพื่อคิดค้นวิธีสอนให้เหมาะกับเด็กในยุคในสมัยนี้ ที่จะต้องสอนเรื่องเหล่านี้ด้วยวิธีการให้เด็กได้ซึมซับโดยธรรมชาติ จะบอกจะสอนด้วยวิธีเดิม ๆ คงไม่ได้

นอกจากนี้ จะต้องสอนให้เด็กรู้จักการเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน นำพาไปสู่อนาคตที่มีความยั่งยืน เพื่อให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรมและรู้ถึงบุญคุณของบูรพกษัตริย์และบรรพบุรุษที่รักษาผืนแผ่นดินและฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อดำรงความเป็นชาติมาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button