นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์กล่าวว่า จากการที่สถานศึกษาแต่ละแห่งมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบ English Program ไม่เท่ากัน ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ การส่งเสริมสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบ English Program ได้ ด้วยการลดการกำหนดกฎเกณฑ์ และการควบคุมกฎต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้อต่อการเปิดหลักสูตร English Program อีกทั้งไม่ควรมีการกำหนดจำนวนวิชา หรือไม่นำเอาจำนวนวิชาที่จะสอนด้วยภาษาอังกฤษมาเป็นตัวตั้ง เพราะที่ผ่านมาการจัดการเรียนการสอน English Program ในวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีความมุ่งหวังให้เด็กให้ความรู้วิชาการ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามนั้น เพราะเด็กส่วนมากไม่ได้ทั้งความรู้วิชาการ และใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วย ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนนำลูกหลานไปติวหนังสือที่อื่น เพราะกลัวว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้
ในส่วนของครูที่จะมาสอน English Program นั้น ก็จะมีการเปิดโอกาสให้ครูชาวไทยที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเข้ามาสอนได้มากขึ้น ด้วยการไม่กำหนดเพดานของครู และเปิดเสรีให้คนไทยที่เก่งภาษาอังกฤษมาสอนโดยได้รับเงินเดือนเทียบเท่าชาวต่างชาติ จึงขอให้ดูที่คุณภาพของครู อย่าคำนึงถึงเพียงแค่การกำหนดคุณสมบัติครู เพราะที่ผ่านมาได้กำหนดกฎเกณฑ์มากมายทำให้ได้ครูไม่เก่งมาสอน English Program อีกทั้งยังมีแนวทางในการปลดล็อคการจำกัดเงินเดือนครูชาวต่างชาติด้วย โดยควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดในการดำเนินการจ้างครูที่มีคุณภาพตามอัตราเงินเดือนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ต้องทำให้เด็กที่ไม่ได้เรียน English Program ไม่รู้สึกต่ำต้อย มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยให้คำนึงถึงการเปิดให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษ สถานศึกษาใดพร้อมสอนเป็นภาษาอังกฤษกี่วิชา ก็เปิดสอนเท่านั้น ซึ่งจะไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าต้องเปิดสอนกี่วิชา อีกทั้งทุกสถานศึกษาจะดำเนินการร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นสถานศึกษาของรัฐ หรือสถานศึกษาเอกชน เนื่องจากตอนนี้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่วิชา แต่เป็นเครื่องมือ ดังนั้น เราจะร่วมกันพัฒนา และใช้เครื่องมือนี้ให้เป็นประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร
การประชุมในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนได้มาประชุมพร้อมกันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน English Program โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องการปลดล็อคให้ทุกอย่างเดินไปได้อย่างก้าวหน้า ขอให้ทุกคนช่วยจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งหาแนวทางขับเคลื่อนการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนไปพร้อม ๆ กัน
หลังจากการประชุมในครั้งนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยมีตัวแทนจากสถานศึกษาที่เปิดสอน English Program ทั้งสถานศึกษาในสังกัดของรัฐและเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อดำเนินการแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนแบบ English Program