ข่าวการศึกษา

จุฬาฯ ตั้งวงถกปฏิรูปการศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่ 3 ปี ศธ.สอบตก ชงเลิกสอบโอเน็ตยุบสทศ.-สมศ.

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการเสวนาและผลการสำรวจ Education Watch “3 ปี 3 รัฐมนตรี เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาไทยไปถึงไหนแล้ว” โดยมีนายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ นายสมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ นายเกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการด้านการศึกษา นายสุทธิ  สายสุนีย์  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล และนายพชรพรรษ์  ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพฯ ร่วมเสวนา โดยนายศิริเดช กล่าวว่า คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  ได้ติดตามสถานการณ์การศึกษา โดยสำรวจถึงการรับรู้การเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษา 4 มิติ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,177 คน  อายุเฉลี่ยประมาณ 50-60  ปี โดยมิติที่1 ด้าน  ห้องเรียนและนักเรียน/นักศึกษา พบว่า ร้อยละ 51 รับรู้ว่า โครงสร้างพื้นฐาน สภาพห้องเรียน อุปกรณ์การศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกดีขึ้น แต่ในส่วนของพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน นักศึกษา พบว่า ร้อยละ 66 เห็นว่า พฤติกรรมการเรียนของนักเรียนนักศึกษาด้อยลง มิติที่ 2 ด้านครู พบว่า คุณภาพการสอนของครู ร้อยละ 42 ดีขึ้น และร้อยละ 38 รับรู้ว่าเหมือนเดิม  มิติที่ 3 ด้านผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า พฤติกรรมการบริหาร ร้อยละ 40 รับรู้ว่าเหมือนเดิมและร้อยละ 33 ดีขึ้น และ มิติที่ 4 การจัดการเชิงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่าการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 45 รับรู้ว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 24 ดีขึ้น  คุณภาพการบริหารงานของศธ.พบว่า ร้อยละ 46 ด้อยลง และร้อยละ 33 เท่าเดิม

“การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้อง ปฏิรูปที่วิธีสอนของครูและวิธีเรียนรู้ของผู้เรียนในห้องเรียนให้ได้ ต้องอำนวยให้ครูได้ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ มีเวลาที่จะเอาใจใส่ คิดค้นวิธีพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล รวมถึงควรปรับลดเนื้อหาในหลักสูตร เน้นการปฏิบัติให้ทำได้จริง  เพราะขณะนี้ นักเรียนไทยมีชั่วโมงเรียนสูงกว่าประเทศอื่นๆ จนมีคำกล่าวที่ว่า ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่ ซึ่งนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนลดลง เพราะการเรียนก็ยังคงมากอยู่เช่นเดียวกับการสอบที่มากเกินไป และไม่ควรนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และ การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือPISA  เป็นเครื่องวัดมาตรฐานการศึกษาสำหรับทุกคน แต่ควรกำหนดเป้าหมายการศึกษาสำหรับแต่ละกลุ่มประชากร”นายศิริเดชกล่าว

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นายสมพงษ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการปฏิรูปการศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ที่ยังไม่มีความชัดเจน หลักการดี แต่เวลาลงสู่ปฏิบัติกลายเป็นผลไม้มีพิษ ส่งผลกับวิกฤตทางการศึกษา ระบบการศึกษาทำให้เด็กประมาณ 30-40% แข่งขันเอาเป็นเอาตาย แต่เด็กอีก 60% กลับถูกปล่อยทิ้งและอยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งเมื่อเราบ้าสอบโอเน็ต และสอบ PISA  แต่ไม่สนใจเรื่องปัญหาคุณภาพเด็ก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณแม่วัยใส เด็กแวนซ์ เพราะโรงเรียนไม่สามารถคุ้มกันเด็ก ทำให้เด็กอยากหนีออกจากโซนนิ่งของโรงเรียน เด็กกลายเป็นเหยื่อระบบโอเน็ตและ PISA ดังนั้น ถ้ายุบโอเน็ตได้ควรยุบ  และควรเปลี่ยนปฏิรูปการศึกษาที่ทำให้เป็นปฏิรูปการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นปฏิรูปการติวเข้ม หากพูดถึงผลงาน 18 ปีที่ผ่านมาเรามี  8 รัฐบาล กับ 21 รัฐมนตรีว่าการศธ. ดำรงตำแหน่งเฉลี่ยคนละ 6 เดือน 16 วัน การปฏิรูปการศึกษาหมดไปกับงานประจำ และงานแก้ไขรายวัน การศึกษาอ่อนลง ขณะที่สรุปภาพรวมการทำงานของ 3 ปี 3 รัฐมนตรีว่าการศธ. สอบตก ไม่ผ่านได้ 3 คะแนนจาก 10 คะแนน เนื่องจากระบบปฏิรูปเดิมปี 2542 ยัง แก้ไม่ครบ เดินย่ำวน  ซึ่งต้องให้อิสระโรงเรียนในการคิด ให้สทศ.  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)เพลาๆ การประเมินหรือไม่ก็ยุบไปเลย ศธ.ยังเป็นกระทรวงที่ขอใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว)  มากที่สุด ทั้งเรื่องทุจริต คอรัปชั่น โดยเฉพาะในส่วนของอุดมศึกษาในเรื่องการไม่มีธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้โดนไปแล้ว 16 ครั้ง และถ้าอยู่ต่อไปคงจะโดนถึง 50 ครั้ง

นายสุทธิ  กล่าวว่า การจัดการศึกษาจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานการจัดการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยจัดเป็นผ้าป่าการศึกษา  เช่น ในส่วนของโรงเรียนตน จะจัดการศึกษา ร้อยละ 30  เด็ก ร้อยละ 30  และภาคสังคม อีก ร้อยละ  40 เป็นต้น

นายพชรพรรษ์  กล่าวว่า นโยบายของศธ.มีจำนวนมากจนจับต้องไม่ได้ คำตอบเห็นได้ชัดเจนจากการที่ภาคเอกชนมาเปิดสถาบันการศึกษาเองมากขึ้น เพราะไม่อยากรอรัฐบาล  หาก รอศธ.พัฒนาการจัดการศึกษา ไดโนเสาร์ก็คงกลับมาเกิดใหม่ ทั้งนี้  การปฏิรูปการศึกษา นอกจากให้เด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้รับกรรมจากระบบการศึกษาดังกล่าว

ที่มา : มติชน

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button