ข่าวการศึกษา

ความรู้เกี่ยวกับ “PISA 2018”

16 มิ.ย.60
————————————-
#สาระน่ารู้ในวันศุกร์ที่นำมาฝากคุณครูและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประเมิน “PISA 2018”

1.PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ที่วัดความรู้และทักษะของนักเรียนอายุ 15 ปี โดย PISA ได้ศึกษางานวิจัยในอดีตและตัดสินว่าความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นตัวชี้วัดศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การรู้เรื่อง (Literacy) จำนวน 3 ด้าน คือ ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics Literacy) และด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

2.PISA วัดความรู้และทักษะของนักเรียน ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมีการประเมินต่อเนื่องทุก 3 ปี แต่ละครั้งประเมินครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน แต่ให้น้ำหนักด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลักและอีก 2 ด้านเป็นรอง

3.PISA ไม่เน้นประเมินความรู้ที่นักเรียนกำลังเรียนอยู่ในห้องเรียน แต่ต้องการสำรวจว่าเยาวชนวัยจบการศึกษาภาคบังคับ หรือกลุ่มอายุ 15 ปี มีศักยภาพที่จะใช้ความรู้และทักษะที่เรียนไปใช้ในชีวิตจริงได้ดีเพียงใดในอนาคต ดังนั้น PISA จึงไม่ประเมินความรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน แต่ PISA เน้นความรู้และทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตจริงนอกโรงเรียนในอนาคต

4.ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 (PISA 2000) และดำเนินการต่อเนื่องมาใน PISA 2003, PISA 2006, PISA 2009, PISA 2012 และ PISA 2015 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินงานในโครงการ PISA 2018

5.PISA จะประเมินครั้งต่อไปในปี พ.ศ.2561 (PISA 2018) โดยจะเน้นด้านการอ่าน (Reading Literacy) เป็นหลัก

6.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินโครงการ PISA ในประเทศไทย โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย สำหรับการดำเนินงานภายในประเทศ สสวท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากทุกหน่วยงาน โดยมีบทบาทหน้าที่ในการให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และติดต่อประสานงานกับโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง

7.จากการวิเคราะห์ผลการประเมิน PISA ย้อนหลังไปตั้งแต่เข้าร่วมโครงการจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินของนักเรียนไทยยังอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพอใจ โดยหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับผู้ปฏิบัติต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนา ซึ่งแนวทางที่น่าจะร่วมกันดำเนินการ และเตรียมรับการประเมินปี 2018 เช่น
7.1 วิเคราะห์ผลการประเมิน PISA ของผู้เรียนภายในจังหวัด สังกัด และเขตพื้นที่ โดยกำหนดเป็นนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญ
7.2 เร่งพิจารณาสภาพปัญหาและกำหนดนิยามคำว่า “การอ่าน” ให้ชัดเจน พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ สนับสนุน ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ อ่านออกเขียนได้ คิด และวิเคราะห์เป็น
7.3 วิเคราะห์ความสอดคล้องสัมพันธ์ของตัวชี้วัดตามหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการประเมินของ OECD ที่เน้นการคิด วิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองของผู้เรียน
7.4 ปรับปรุง พัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับเน้นการคิด วิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองของผู้เรียน และให้มีระบบการวัดและประเมินผลในชั้นเรียนที่ได้มาตรฐาน
7.5 สนับสนุนให้มีการประเมินผลระดับชาติที่เน้นการประเมินแบบอัตนัย เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และนำไปสู่การรองรับการประเมินครั้งต่อไปในปี 2561 (PISA 2018)
7.6 จัดตั้งหน่วยงานหรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมรับการประเมินในปี 2561 (PISA 2018)

8.รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงาน ผลการประเมิน และตัวอย่างข้อสอบ PISA สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ของ สสวท. (http://pisathailand.ipst.ac.th/)

ขอบคุณข้อมูลและความรู้ดีจาก ผอ.สทศ.สพฐ. ศธ.

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button