สาระความรู้

ระบายรหัสประจำตัวสอบผิด “ไม่ตัดสิทธิ” คะแนนสอบ

ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่งสูงขึ้น การทดสอบความรู้ความสามารถของบุคคลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ส่วนราชการนั้น ๆ กําหนด ถือเป็นวิธีการหนึ่ง เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมกับตําแหน่งงานมากที่สุดโดยผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการเข้าสอบและวิธีการสอบอย่างเคร่งครัด เช่น การสอบข้อเขียนซึ่งผู้เข้าสอบจะต้องกรอกรหัสประจําตัวสอบ การแสดงบัตรประจําตัวประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้ก่อนเข้าห้องสอบ ห้ามนําเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเข้าห้องสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการสอบ หากผู้สมัครสอบไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการเข้าสอบและวิธีการสอบดังกล่าว หรือมีเจตนาทุจริตในการสอบหรือพยายามกระทําการทุจริตในการสอบ ผู้สมัครสอบอาจไม่ได้รับอนุญาตให้สอบหรืออาจถูกพิจารณาตัดสิทธิไม่ตรวจให้คะแนนสอบได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการสอบคัดเลือกจะกําหนดให้อํานาจหน่วยงานที่จัดสอบในการไม่อนุญาตหรือตัดสิทธิไม่ตรวจคะแนนสอบได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้อํานาจนั้นโดยไม่คํานึงถึงวัตถุประสงค์ของการสอบคัดเลือกหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ดังเช่นคดีปกครองที่นํามาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์กฎหมายใกล้ตัวฉบับนี้เป็นเรื่องของข้าราชการผู้เข้าสอบได้ระบายรหัสประจําตัวสอบผิดและถูกตัดสิทธิในการตรวจคะแนนในวิชานั้น ทําให้ไม่มีชื่อเป็นผู้สอบผ่าน

กรณีดังกล่าวถือเป็นข้อผิดพลาดถึงขนาดต้องตัดสิทธิไม่ได้รับคะแนนในรายวิชานั้นหรือไม่
คดีนี้เกิดจาก ผู้ฟ้องคดีสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสถานศึกษาและผู้อํานวยการสถานศึกษาต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดี (เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านภาค ก ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีไปขอดูคะแนนสอบจึงทราบว่า ผู้ฟ้องคดีทําข้อสอบวิชาภาคเช้าได้ 62 คะแนน แต่ระบายรหัสประจําตัวสอบในการกระดาษคําตอบวิชาดังกล่าวผิด ส่วนข้อสอบวิชาภาคบ่ายผู้ฟ้องคดีได้ 67 คะแนน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่นําคะแนนในวิชาที่ระบายรหัสประจําตัวสอบผิดรวมกับคะแนนสอบอีกวิชา ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีชื่อเป็นผู้สอบผ่านภาค ก.

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ในกระดาษคําตอบได้ปรากฏชื่อและชื่อสกุลของผู้ฟ้องคดีการระบายรหัสประจําตัวสอบผิดจึงไม่ใช่สาระสําคัญที่จะทําให้การตรวจข้อสอบต้องเสียไป เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ผลคะแนนสอบสองวิชารวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบถือเป็นผู้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดไว้ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนประกาศผลการสอบภาค ก. เฉพาะรายของผู้ฟ้องคดีและให้ประกาศผลการสอบภาค ก. ใหม่ให้ถูกต้องต่อไป

ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า ในกระดาษคําตอบมีคําแนะนําการระบายรหัสอย่างชัดเจน ซึ่งผู้เข้าสอบทุกคนต้องทราบและปฏิบัติตามการที่ผู้ฟ้องคดีระบายรหัสประจําตัวสอบผิดถือเป็นความผิดของผู้เข้าสอบเอง คณะกรรมการตรวจกระดาษคําตอบและประมวลผลการคัดเลือกจึงไม่อาจแก้คะแนนของผู้เข้าสอบได้ ประกอบกับการตรวจกระดาษคําตอบและประมวลผลการสอบแข่งขันได้ดําเนินการด้วยเครื่องจักร ตามแนวปฏิบัติตามหนังสือสํานักงาน ก.ค. ที่ศธ 1504/ว 3 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 ข้อ 2.1.2 และข้อ 2.2 กําหนดว่ากรณีที่กระดาษคําตอบไม่สามารถตรวจได้อันเนื่องมาจากความผิดพลาดของผู้เข้าสอบ เช่น ผู้เข้าสอบลงรหัสผิดพลาด ลงรหัสซ้ํากันหรือลงรหัสด้วยปากกาจะไม่มีการแก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น และจะไม่นําคะแนนที่ได้จากการตรวจกระดาษคําตอบมาประมวลผล

ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธินําเหตุบกพร่องของผู้ฟ้องคดีจากการระบายรหัสประจําตัวสอบผิดมาตัดสิทธิคะแนนสอบ โดยถือว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สอบไม่ผ่านหรือไม่ ? 

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แนวปฏิบัติในการตรวจกระดาษคําตอบและประมวลผล การสอบแข่งขันด้วยเครื่องจักรฯ ที่นํามาใช้ขณะเกิดข้อพิพาทเป็นระเบียบภายในเพื่ออํานวยความสะดวก ในการตรวจกระดาษคําตอบและประมวลผลการสอบ แต่การคัดเลือกข้าราชการครูเพื่อดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสถานศึกษาและผู้อํานวยการสถานศึกษา เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถของผู้เข้ารับการคัดเลือก การกระทําที่จะมีผลถึงขนาดให้การทดสอบความรู้ความสามารถเสียไปต้องเป็นการกระทําที่กระทบต่อสาระสําคัญของการทดสอบความรู้ความสามารถ เช่น การทุจริตในการสอบ แต่การระบายรหัสประจําตัวสอบไม่ตรงกับเลขรหัสประจําตัวสอบไม่กระทบต่อสาระสําคัญของการทดสอบความรู้ความสามารถ
ของผู้เข้าสอบ และไม่ปรากฏว่ามีการทุจริตในการสอบและมีผลคะแนนออกมาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติต่อไปเพียงการประมวลผลคะแนน

การตรวจสอบชื่อผู้เข้าสอบในกระดาษคําตอบที่มีการระบายรหัสประจําตัวสอบไม่ตรงกับเลขรหัสประจําตัวสอบจะทําให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้รับความสะดวก และก่อให้เกิดความล่าช้าในการตรวจให้คะแนนและประมวลผลคะแนนเท่านั้น แต่ไม่ได้ทําให้สาระสําคัญในการคัดเลือกดังกล่าวเสียไป การนําแนวปฏิบัติดังกล่าวมาตัดสิทธิในคะแนนของผู้ฟ้องคดีจึงขัดต่อเจตนารมณ์ทางกฎหมายของการทดสอบความรู้ความสามารถเพื่อคัดเลือกรองผู้อํานวยการสถานศึกษาและผู้อํานวยการสถานศึกษา

นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดียังต้องนําแนวปฏิบัติการดําเนินการสอบภาค ก. ที่กําหนด ขึ้นมาใช้บังคับในปีพ.ศ. 2552 มาพิจารณาประกอบด้วย เมื่อแนวปฏิบัติการดําเนินการสอบภาค ก.ได้กําหนดให้กรรมการกํากับห้องสอบมีหน้าที่ตรวจสอบการลงรหัสวิชาและรหัสประจําตัวสอบของผู้เข้าสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการสอบ กรรมการกํากับห้องสอบจึงมีหน้าที่ต้องตรวจการระบายรหัสประจําตัวสอบให้ตรงกับเลขรหัสประจําตัวสอบและตัวบุคคลที่เข้าสอบก่อนเก็บกระดาษคําตอบ

ดังนั้น เมื่อพบว่ามีผู้เข้าสอบระบายรหัสประจําตัวสอบไม่ตรงกับเลขรหัสประจําตัวสอบจึงไม่ได้เป็นความผิดพลาดของผู้เข้าสอบเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นความผิดพลาดของกรรมการกํากับห้องสอบ ประกอบด้วยจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่เกิดมาจากความผิดพลาดของผู้เข้าสอบตามข้อ 2.2 ของแนวปฏิบัติในการตรวจกระดาษคําตอบและประมวลผลการสอบแข่งขันด้วยเครื่องจักรฯ ที่จะตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีเนื่องจากระบายรหัสประจําตัวสอบไม่ตรงกับเลขรหัสประจําตัวสอบ

ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีเฉพาะส่วนที่ไม่ประกาศรายชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สอบผ่านภาค ก. จึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องนําคะแนนสอบในวิชาที่ระบายรหัสประจําตัวสอบผิดมารวมในบัญชีคะแนนและประกาศรายชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สอบผ่านภาคก. ให้ถูกต้อง (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่อ. 479/2558) 

คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสําหรับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องใช้อํานาจโดยคํานึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อํานาจในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งแม้ว่าจะได้มีการกําหนดแนวปฏิบัติขึ้นเป็นการภายในเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทําหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ใช้อํานาจก็ไม่อาจนําแนวปฏิบัติดังกล่าวมาใช้ในทางที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อํานาจได้หรือไม่อาจนําข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าวในข้อที่มิใช่สาระสําคัญมาเป็นเหตุผลของการใช้อํานาจ จนส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง นอกจากนี้คดีนี้ยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสําหรับผู้เข้าสอบคัดเลือกหรือสอบแข่งขันในทุกสนามสอบที่จะต้องปฏิบัติตามคําชี้แจงหรือข้อสั่งการที่กําหนดไว้สําหรับการสอบในครั้งนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเขียนเลขประจําตัวสอบหรือการระบายรหัสประจําตัวสอบจะต้องถูกต้องเพื่อมิให้ต้องเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทดังเช่นคดีนี้เป็นต้น


นางสาวนิตา บุณยรัตน์   พนักงานคดีปกครองชํานาญการ
กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร
สํานักวิจัยและวิชาการ สํานักงานศาลปกครอง
วารสารกรมประชาสัมพันธ์คอลัมน์กฎหมายใกล้ตัว ฉบับเดือนธันวาคม 2558

ที่มา : thailocalmeet.com

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button