สถานี ก.ค.ศ. การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สวัสดีครับ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจทุกท่าน ในสัปดาห์นี้มีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 – 6 เดือนที่ผ่านมา มาบอกกล่าวให้ทราบโดยทั่วกัน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
เรื่องนี้ เป็นกรณีที่ศาลปกครองอุบลราชธานีได้มีคำสั่งลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ให้ทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. (ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว 24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งหลายท่านจะเรียกหลักเกณฑ์และวิธีการนี้อย่างคุ้นเคยว่า ว 24/2560 คำสั่งศาลดังกล่าวมีผลทำให้ไม่สามารถนำข้อ 10 และข้อ 11 ของ ว 24/2560 มาใช้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ได้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ให้ชะลอการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ซึ่งยื่นคำร้องขอย้าย 1 – 15 สิงหาคม 2560 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับ และ ก.ค.ศ. ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับคดีของศาลปกครองอุบลราชธานีไปยังศาลปกครองสูงสุด โดยในระหว่างที่รอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดนั้น การพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาก็ยังคงชะลอการดำเนินการไว้ตลอดมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองอุบลราชธานีได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ คบ.51/2561 แล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการ ตาม ว 24/2560 ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นยกคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลสรุปได้ ดังนี้
1) แม้ว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การย้ายโดยอาศัยจังหวัดและขนาดสถานศึกษาเดียวกันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนก็ตามแต่เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์โดยรวมแล้วมิได้มุ่งประสงค์ที่จะยึดเอาแต่เขตจังหวัดหรือสถานศึกษาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาแต่เพียงอย่างเดียว
2) การให้มี กศจ. ทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา บริบทในการบริหารงานบุคคลจึงเปลี่ยนแปลงไป ก.ค.ศ. ย่อมมีอำนาจที่จะทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปได้
3) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่ ก.ค.ศ. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ
4) เมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ที่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว มีผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. สามารถดำเนินการตาม ว 24/2560 ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายได้กำหนดให้ดำเนินการพิจารณาย้ายไปแต่งตั้งในตำแหน่งที่จะว่างเนื่องจากการเกษียณอายุราชการและตำแหน่งว่างกรณีอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ตุลาคม ของปีเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันได้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาย้ายแล้ว ประกอบกับการพิจารณาย้ายของแต่ละจังหวัดอยู่ในขั้นตอนแตกต่างกัน กล่าวคือบางจังหวัดได้ดำเนินการย้ายเสร็จแล้ว ในขณะที่อีกหลายจังหวัดยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น เพื่อให้มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา หลังจากที่มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด สำนักงาน ก.ค.ศ. จะได้นำเสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณา ในวันที่ 18 เมษายน 2561 นี้ และเมื่อ ก.ค.ศ. มีมติเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาการพิจารณาย้ายเป็นประการใดแล้ว จะได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด แล้ว
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.”
หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 16 เมษายน 2561 ดาวน์โหลดไฟล์