ข่าวการศึกษา

ย้ำให้ ศธ.จัดการเรียนการสอนเน้นคิดวิเคราะห์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 15/2561 เมื่อวันอังคารที่ 7 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับเข้าร่วมประชุม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบประเด็นหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

● ย้ำให้ทุกกระทรวงมีการจัดทำระบบ Big Data อย่างเป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะข้อมูลด้านการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่แล้ว และได้นำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการบางส่วน อาทิ การลดความซ้ำซ้อนของจำนวนนักเรียน เป็นต้น

รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานจัดทำระบบ Big Data ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขานรับและขับเคลื่อนนโยบายให้ครอบคลุมข้อมูลการศึกษาของประชาชนทั้งประเทศ พร้อม ๆ กับการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีสรุปผลการดำเนินงานใน 4 ด้าน คือ

  • การสร้างฐานข้อมูลใหม่ทั้งระบบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมโยงระบบของแต่ละองค์กรหลักเข้าด้วยกัน โดยในปี 2561 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จใน 3 องค์กรหลัก และคาดว่าจะดำเนินการได้ครบทุกองค์กรหลัก รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ข้อมูล Data Center ของกระทรวงศึกษาธิการได้ภายในปี 2562 เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลการศึกษาร่วมกันจากแหล่งเดียวได้

  • การอบรมบุคลากรรองรับระบบ ICT  โดยกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ทั้งในด้าน Server Security ในช่วงเดือนกันยายน 2561 นี้ ซึ่งถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อฐานข้อมูลแบบใหม่มาก และด้าน Digital Literacy ที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผนอบรมบุคลากรอย่างรอบคอบ เพื่อรองรับจำนวนบุคลากรที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะครู ตลอดจนจะพิจารณาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาให้มีทักษะด้าน ICT อย่างรอบด้าน

  • การเตรียมจัดทำ National Platform เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานข้อมูลได้ในอนาคต

  • การดำเนินงานเกี่ยวกับระเบียบว่าด้วยการบริหารงานด้าน ICT ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรหลัก ที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบงานข้อมูลด้านการศึกษา และลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนต่อจากนี้

นอกจากนี้ รศ.นพ.โศภณ ยังได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานด้าน ICT ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าขณะนี้ยังมีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีก 20 แห่ง ที่ยังไม่มีระบบ Hi-Speed Internet แต่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านระบบดาวเทียมอยู่แล้ว จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเดินสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติกเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี 2561 จะเหลือโรงเรียนเพียง 9 แห่งที่ยังไม่มี Hi-Speed Internet ใช้งาน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนภูเขา และชายขอบ กระทรวงศึกษาธิการจึงเตรียมที่จะนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านคลื่นไมโครเวฟเข้ามาช่วย เพื่อทำให้ทุกโรงเรียนมีอินเทอร์เน็ตใช้สำหรับการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม

ในส่วนของสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งปัจจุบันใช้งานในระบบ Hi-Speed Internet อยู่แล้ว แต่ก็มีแผนที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่ยังพบปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของอุปกรณ์ ทั้งที่ใช้งานมานานและไม่สามารถรองรับความเร็วของสัญญาณที่เพิ่มขึ้นได้ ตลอดจนยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้าน ICT ที่แท้จริง ซึ่งต้องขอฝากเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้ดูแลช่วยเหลือในกรณีดังกล่าวด้วย

● ย้ำให้ ศธ.จัดการเรียนการสอนเน้นคิดวิเคราะห์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. สอนนักเรียนให้คิดวิเคราะห์เป็น ด้วยรูปแบบวิธีการเรียนการสอนต่าง ๆ ไม่ใช่วิธียืนสอนหน้าห้องเพียงอย่างเดียว อาทิ นำประเด็นทางสังคม สถานการณ์ต่าง ๆ หรือหัวข้อที่น่าสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ มาเป็นโจทย์เพื่อให้เด็กหาข้อมูลและแสดงความคิดเห็นหรือถกแถลงร่วมกันภายในห้องเรียน หรือในช่วงกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยมีครูคอยแนะนำและให้คำปรึกษา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการส่งเสริมการเรียนการสอนเน้นคิดวิเคราะห์ในสถานศึกษาว่า ได้นำแนวทางดังกล่าวลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ประชุมหารือร่วมกันเพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเน้นคิดวิเคราะห์มากขึ้น ให้ทันเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่จะต้องทำงานที่ยากและหนัก เพราะมีความเชื่อมโยงทั้งระบบ ตั้งแต่การสอบ การวัดและประเมินผล เป็นต้น ในส่วนของอาชีวศึกษา ได้มอบนโยบายแล้วว่าให้เร่งปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นคิดวิเคราะห์มากขึ้น และหากเป็นไปได้ ก็ขอให้เริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ด้วยเช่นกัน

ในส่วนงานภายใต้การกำกับดูแล ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากทั้งสองส่วน โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วทั้ง  6 ภาค พร้อมเตรียมที่จะเชื่อมโยงข้อมูลระบบ Big Data System กับทุกศูนย์ประสานงานฯ ทั่วประเทศ และเชื่อมต่อกับระบบข้อมูลของ สอศ. ส่วนกลาง เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการเป็นแหล่งเดียวกัน โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องในเรื่องของข้อมูลกำลังคนมาร่วมประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางผสานข้อมูลความต้องการกำลังคนจากแหล่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อาทิ กระทรวงแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น

อ่านเรื่องอื่นๆ : http://www.moe.go.th/websm/2018/3/272.html

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button