ข่าวการศึกษา

กอปศ. ชูประเด็นมาตรฐานสมรรถนะครูและความปลอดภัยสวัสดิภาพของผู้เรียนเป็นเรื่องเร่งด่วน

การประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 42/2561 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เป็นประธานการประชุม และได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่าการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณา เรื่อง “แนวทางการปรับกระบวนการทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” รวมทั้งเรื่องสำคัญเร่งด่วนอีก 2 เรื่องคือ “มาตรฐานสมรรถนะของวิชาชีพครู” ซึ่ง กอปศ.เห็นชอบและจะได้ส่งเป็นข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการอิสระไปสู่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อการใช้ประโยชน์ และ “เรื่องของความปลอดภัย สวัสดิภาพของผู้เรียน” ที่จะได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดทำข้อเสนอเร่งด่วนต่อกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลในการที่จะจัดให้มีระบบการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การดูแลเด็กทุกคนในโรงเรียน

รองศาสตราจารย์ ศิริเดช สุชีวะ ประธานคณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ กล่าวว่า ประเด็นปฏิรูปอันหนึ่งของการผลิตครูคือการเสนอให้มีการพัฒนาหลักสูตรผลิตครูที่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ต่อไปนี้หลักสูตรผลิตครูจะต้องมุ่งเน้นที่จะสร้างบัณฑิตครูให้เกิดความสามารถที่จำเป็นในยุคใหม่จริงๆ โดยองค์รวมคือความสามารถที่จะไปพัฒนาผู้เรียนที่จะทำให้กลายเป็นพลเมืองในยุคใหม่ได้ทั้งพลเมืองไทยและพลเมืองโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะไปสร้างหลักสูตรนั้นได้ต้องมีกรอบมาตรฐานสมรรถนะครูเป็นแกนกลางเสียก่อน ให้ทุกสถาบันบัณฑิตครูได้เห็นภาพตรงกันว่าจะผลิตครูที่มีความสามารถอะไรบ้างที่จำเป็น แต่ก่อนนี้จะพูดถึงมาตรฐานด้านความรู้เป็นหลัก คือในการผลิตครูต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เราพบที่จริงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกตรงกันคือ การมุ่งเน้นสร้างความรู้ให้กับบัณฑิตเพียงอย่างเดียว เกิดปัญหาขึ้นในภายหลังพบว่าเมื่อบัณฑิตสำเร็จการศึกษาแล้วมักจะไม่เกิดความสามารถที่พึงจะเป็นในวิชาชีพนั้นๆ บัณฑิตวิชาชีพครูก็เช่นกันอาจจะมีความรู้วิชาที่เรียนเมื่อเจอหน้างานแล้วไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานวิชาชีพครูได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะฉะนั้นการผลิตครูจะต้องเน้นให้เกิดความสามารถเหล่านี้ควบคู่ไปกับความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งอนุกรรมการด้านครูและอาจารย์ก็เชื่อว่าการวางกรอบสมรรถนะวิชาชีพครูให้อยู่บนพื้นฐานทั้งองค์ความรู้ในแบบสากลและบริบทของไทยน่าจะช่วยให้ได้กรอบสมรรถนะ ใช้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งสำหรับการสร้างคนรุ่นใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ ในการนี้จะใช้การทบทวนองค์ความรู้จากแนวคิดและการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่คุรุสภาได้ร่วมกับ SEAMEO ในการที่จะวางกรอบสมรรถนะของครูอาเซียนเป็นเบื้องต้น กรอบนี้ก็เน้นความเป็นอาเซียนเป็นหลัก ยังมีหลายอย่างที่ต้องการความชัดเจนในรายละเอียดตัวชี้วัดพฤติกรรม ตัวชี้วัดความสามารถ และความเป็นบริบทไทย ในครั้งนี้เราสังเคราะห์ร่วมกันกับองค์ความรู้ในการวิจัยจากแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์จุดอ่อนของครูไทยในปัจจุบันและจุดอ่อนที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต ได้ออกมาเป็นสมรรถนะใน 4 ด้าน ดังนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ด้านที่ 1 สมรรถนะเกี่ยวกับคุณลักษณะของความเป็นครู ในครั้งนี้จะรวมสมรรถนะและจะแปลงคุณลักษณะนั้นให้เป็นสมรรถนะที่สามารถแสดงออกและวัดได้ ทำให้ทุกสถาบันมีทิศทางเดียวกันที่จะสร้างครูด้วยเป้าหมายเดียวกัน แม้จะแตกต่างในวิธีการ
ด้านที่ 2 เป็นสมรรถนะในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในวิชาชีพ จะมีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในหลายๆด้านเพื่อให้การทำงานครูสมบูรณ์ที่สุด
ด้านที่ 3 สมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ ชื่อว่าจัดการเรียนรู้แต่ที่จริงแล้วครอบคลุมงานครูทั้งหมด ที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติงานจริงสำหรับการสร้างคนยุคใหม่ให้อยู่ในชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันและอนาคตได้
ด้านที่ 4 คือสมรรถนะด้านการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในรูปแบบที่เราจับต้องได้ หรือว่าชุมชนไซเบอร์ ครูจะต้องเข้าถึงและเข้าใจสิ่งเหล่านี้ 4 สมรรถนะนี้จะมีตัวสมรรถนะย่อยๆ ที่เป็นรูปธรรมที่สุด เชื่อว่าหลักสูตรผลิตครูทั้งหลาย สามารถนำไปเป็นกรอบในการที่จะออกแบบหลักสูตร ออกแบบรายวิชา เพื่อที่จะสร้างสมรรถนะเหล่านี้ได้

รองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นปฏิรูปที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง เป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือระบบความปลอดภัยในโรงเรียน และเขียนไว้อย่างชัดเจนในร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ในมาตรา 45 ระบุว่าให้สถานศึกษาจัดให้มีบริการเพื่อสนับสนุน คือให้มีระบบการดูแลติดตามช่วยเหลือผู้เรียน ในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลืออย่างทันเหตุการณ์ ทันเวลา อบรมบ่มนิสัยให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรม มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เข้มแข็ง มีทักษะชีวิต คุณภาพชีวิตที่ดีประสบความสำเร็จ อีกอันหนึ่งที่เขียนไว้อย่างชัดเจนคือระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาและระบบสวัสดิภาพในสถานศึกษา ต่อมาคือระบบการขนส่งหรือที่พักเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล และระบบการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสื่อดิจิทัลของผู้เรียน และระบบอื่นตามความจำเป็น ทั้งหมดเหล่านี้ถ้าว่าไปแล้วจะอยู่ในหลักใหญ่ก็คือคำว่าความปลอดภัยในสถานศึกษา ความปลอดภัยในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแค่สภาพแวดล้อม ซึ่งตัวสภาพแวดล้อมเป็นอันดับแรกที่เราจะต้องคำนึงถึงว่าเมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในมือของครู เข้ามาอยู่ในโรงเรียนในสถานศึกษา พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องมั่นใจว่า ลูกอยู่ในสถานที่ปลอดภัย

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบันที่เราไม่ได้นึกถ้านึกถึงในด้านความปลอดภัยคือปัญหาทางด้านจิตใจ คือเป็น Psychological Safety ความปลอดภัยในด้านจิตใจก็คือ อย่างที่ทำไมเราต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือ คือจะเห็นได้ในปัจจุบันว่ามีการรังแกกันในที่โรงเรียน อันนี้คืออันหนึ่งที่เรายังไม่ได้ให้ความสำคัญ ในอเมริกาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คือการรังแกกัน ทั้งการรังแกโดยร่างกาย รังแกโดยจิตใจ อย่างการล้อเลียนอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เด็กถูกล้อว่าอ้วนจนตัดสินใจฆ่าตัวตายก็มี นี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกโรงเรียน เกิดขึ้นทุกแห่ง ในโรงเรียนไม่มีระบบของการดูแลความปลอดภัยทางด้านของจิตใจ ในยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลงกันอย่างรวดเร็ว เด็กมีความอ่อนไหวมาก เด็กมีปัญหาพฤติกรรมมากมายในโรงเรียน ในงานวิจัยล่าสุดเด็กวัยรุ่นเกือบ 30% มีภาวะซึมเศร้า ภาวะไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นลงมาถึงเด็กเล็กก็มี เพราะผลกระทบจากสภาพสังคมในปัจจุบัน อย่างในครอบครัวที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในครอบครัวไทย รายงานล่าสุดมีครอบครัว 2.5 ล้านครอบครัว ที่เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว และครึ่งหนึ่งของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมาจากแม่วัยรุ่นที่ไม่พร้อมในการที่จะดูแลลูก และเราก็จะเห็นครอบครัวในชนบท เด็กก็จะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จะเห็นวัยรุ่นในปัจจุบันที่อยู่ในโรงเรียนก็จะมีปัญหาเพราะว่างานวิจัยยืนยันชัดเจนเลยว่าในเด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่รู้สึกว่าขาดความรัก เป็นเด็กที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ เป็นเด็กที่ไม่มีความสุข และจะเรียกร้องความสนใจต่างๆ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่ออกมาในโรงเรียน เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียน เรียกร้องความสนใจ รวมกลุ่มทำนั่นทำนี่ แล้วก็กลายเป็นการไปแกล้งคนอื่น ไปทำร้ายคนอื่น พูดไม่ถูกหูกันก็ลงไม้ลงมือทันที เพราะฉะนั้นในระบบโรงเรียนในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการบอกว่ามีระบบในการดูแลช่วยเหลือ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายเรียกร้องในปัจจุบันและรัฐบาลก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกคนต้องการนักจิตวิทยาโรงเรียน ที่จะเข้าไปอยู่ในโรงเรียนดูเข้าไปช่วยเหลือในภาวะวิกฤติ ช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา ครูก็มีความสามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่เราต้องการผู้เชี่ยวชาญ ขนาดในต่างประเทศมีนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำทุกโรงเรียน ปัญหาการแกล้งกันรังแกกันในโรงเรียนก็ยังมีอยู่มากมาย อีกอันหนึ่งในโลกเสมือนจริง ที่เราพูดถึงเทคโนโลยีมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ก็เป็นสื่ออันหนึ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งที่นำไปสู่การทำร้ายกัน มันก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของเด็กในโรงเรียนจากสื่อตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ก็จะมีคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งที่จะมาจัดทำข้อเสนอเร่งด่วนต่อกระทรวงศึกษาธิการต่อรัฐบาลในการที่จะจัดให้มีระบบการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การดูแลเด็กทุกคนในโรงเรียน ให้เมื่อเขาเดินเข้าไปในโรงเรียนแล้วรู้สึกปลอดภัย อันนี้ทั้งครูด้วย ทั้งรุ่นพี่ทั้งรุ่นน้อง เราก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกโรงเรียน ครูก็ยังเข้าไม่ถึง และผู้อำนวยการก็ยังขาดทักษะในการแก้ไขภาวะวิกฤตในโรงเรียน

ระบบความปลอดภัยในโรงเรียนต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ความจริงแล้วมีงานวิจัยศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่เวลาเอาไปปฏิบัติ แต่ละโรงเรียนยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง จริงๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกเลย เพราะถ้าเด็กเข้ามาในโรงเรียนแล้ว บางคนเขารู้สึกไม่ปลอดภัยที่บ้านมีความรุนแรง แต่เมื่อมาถึงโรงเรียนแล้ว ต้องรู้สึกปลอดภัยภายใต้การดูแลของครู แต่บางทีครูไม่เข้าใจ ครูก็ไปทำร้ายเด็กอีก นี่คือระบบความไม่ปลอดภัยอันหนึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นภารกิจเร่งด่วนในการปฏิรูปการศึกษาอีกอันหนึ่งที่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ซึ่งก็จะต้องไปเกี่ยวเนื่องกับสมรรถนะของครู ครูจะต้องเรียนรู้ว่า Crisis intervention การแก้ไขภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นคืออะไร เพราะฉะนั้นความปลอดภัยในโรงเรียนเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน และเกี่ยวข้องกับผู้บริหาร เกี่ยวข้องกับครู เกี่ยวข้องกับทุกคน ต้องสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้อันนี้ให้กับสังคมโดยด่วน โดยเฉพาะในภาวะสังคมไทยในปัจจุบันนี้

ที่มา : thaiedreform.org

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button