ข่าวการศึกษา

กอปศ. ฟื้นศึกษานิเทศก์ ช่วยยกระดับการศึกษา

เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.2562 ) เว็บไซต์ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)  ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการศึกษา เรื่อง กอปศ. ฟื้นบทบาทศึกษานิเทศก์ แจงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  โดยมีรายละเอียดดังนี้

การประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธานการประชุม และได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ กอปศ. ได้พิจารณาเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ ศึกษานิเทศก์ และการประเมินประกันคุณภาพการศึกษา

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องศึกษานิเทศก์ว่า ศึกษานิเทศก์เป็นผู้มีความสำคัญเพราะสามารถช่วยเหลือครูและช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา เมื่อ 30 ปีก่อนมีโรงเรียนศึกษานิเทศก์ที่เข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือ ให้คำแนะนำครู ผู้บริหาร แต่ต่อเมื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาปี 2542 ศึกษานิเทศก์ไม่มีโอกาสทำหน้าที่เหมือนสมัยก่อน จึงทำให้คุณภาพครูลดลง เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จึงมีแนวคิดให้ศึกษานิเทศก์กลับมาช่วยยกระดับการศึกษาอีกครั้ง

โดยมีแนวคิดจัดสรรศึกษานิเทศก์ให้เพียงพอ รวมถึงคัดเลือกคนดีคนเก่ง คนที่เคยเป็นครูมาเป็นศึกษานิเทศก์ เพราะจะเข้าใจลักษณะงานและสมรรถนะที่จำเป็น หลักสูตรต่อไปจะเน้นสมรรถนะ ศึกษานิเทศก์ต้องได้รับการอบรมพัฒนาให้ความความรู้เหล่านี้เพื่อสามารถช่วยเหลือครูได้อย่างเต็มที่

ขณะนี้จึงมีการยกร่างสมรรถนะศึกษานิเทศก์ ประกอบด้วยสมรรถนะ 4 ด้านหลัก คือ
1. ผู้นำการเรียนรู้
2. ผู้นำ การคิดและปฏิบัติตน
3. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่ท้าทาย และ
4. ผู้สนับสนุน อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
โดยมีสมรรถนะย่อยในแต่ละด้านรวม 15 สมรรถนะ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของศึกษานิเทศก์

รองศาสตราจารย์ จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินประกันคุณภาพการศึกษาว่า แนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่เดิมจะเน้นการประกันคุณภาพเป็นสำคัญ สำหรับการปฏิรูปการศึกษารอบนี้จะเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิดที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาคุณภาพ กอปศ. จึงนำแนวคิดทั้งหมด องค์ประกอบในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับใหม่ มาทบทวนอีกครั้ง หัวใจสำคัญ คือ คุณภาพ แต่เดิมจะเน้นทำให้ได้ตามมาตรฐาน แต่ปัจจุบันนอกจากคำนึงถึงมาตรฐานแล้ว ต้องเชื่อมโยงถึงการตอบสนองความต้องการเรียนรู้ ความถนัด ความเชี่ยวชาญของผู้เรียน รวมถึงบริบทของพื้นที่อีกด้วย คุณภาพจึงสามารถพิจารณาได้จากทั้งคุณภาพผู้เรียนและระบบในการจัดการศึกษา แนวทางการพัฒนาในอนาคตจะต้องเปิดกว้างกว่าเดิม หลากหลาย เหมาะกับระดับ ประเภท ระบบ ลักษณะของสถานศึกษาแต่ละประเภท ซึ่งหน่วยงานเชิงนโยบายต้องทบทวนและกำหนดแนวทางให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
การจะทำให้เกิดคุณภาพต้องเริ่มต้นตั้งแต่สถานศึกษาหรือโรงเรียน สมัยก่อนเรียกว่า ประกันคุณภาพภายใน แต่แนวคิดใหม่จะไม่แยกการประกันภายใน ภายนอก แต่การประกันคุณภาพจะเป็นบทบาทของสถานศึกษาเองที่จะต้องนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาทบทวนเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการจัดการศึกษาในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องตามแนวทางที่กำหนด

สำหรับการประเมินคุณภาพ เดิมเรียกประกันภายนอก ส่วนกลางจะมีกลไกในการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติเป็นครั้งคราว มี 2 ส่วนสำคัญ คือ คุณภาพที่มาจากตัวผู้เรียนโดยมีการทดสอบทางการศึกษา ซึ่งสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เป็นผู้ดูแล และอีกส่วนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เป็นผู้ดูแล แนวคิดใหม่จะมีการปรับวิธีการประเมินเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลทั้งสองส่วนต้องมีการวิเคราะห์และป้อนกลับไปสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพสถานศึกษาแต่ละแห่ง ข้อมูล ยังต้องได้รับการประมวลระดับชาติและป้อนกลับเพื่อเป็นข้อมูลที่ใช้วางแผนการศึกษาแห่งชาติ ใช้จัดสรรร ทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ วัฒนธรรมคุณภาพ คือเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครู น้ำใจ การคิดถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น

ที่มา : คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button