ข่าวการศึกษา

เลขาธิการสภาการศึกษา ชี้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ยกเทรนด์อนาคต Blended Learning พัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ยึดติด

๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒  เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ “พลิกโฉมการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Learning Platform)” โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ครู อาจารย์ และสื่อมวลชน จำนวนกว่า ๑๕๐ คน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

เลขาธิการสภาการศึกษา ชี้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ยกเทรนด์อนาคต Blended Learning พัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ยึดติด

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลใช้กลไกดิจิทัลเป็นเครื่องมือเสริมสมรรถนะการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ และฐานข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งการเรียนรู้ในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างจากการเรียนรู้ในช่วง ๒๐ – ๓๐ ปีที่ผ่านมา มองว่ามี ๒ สิ่งที่แตกต่างกัน ๑) เด็กปัจจุบันมีโอกาสเลือกการเรียนรู้มากขึ้น และ ๒) การแบ่งปันการเรียนรู้ (Share) สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า ๒๕ ปีลงมามีโอกาสได้เรียนรู้ที่มากขึ้นและหลากหลาย

          รองศาสตราจารย์ ดร.ฐาปนีย์  ธรรมเมธา ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้การสนับสนุนงบลงทุนเพื่อจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจัดทำหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ โดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา (ไอที) เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกระดับสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) สำหรับแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ปัจจุบันเรียกว่า THAI MOOC ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้อย่างครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ภายใต้แนวคิดเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก (Massive) เปิดกว้างและรับการลงทะเบียน (Open) มีระบบปฏิบัติการแบบออนไลน์ (Online) และมีการจัดทำหลักสูตรรองรับการเรียนเป็นกลุ่ม (Course) ซึ่งเดิมขับเคลื่อนโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทั้งนี้ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ด้านการเรียนรู้ระหว่างกันในกลุ่มผู้เรียนเพื่อให้เกิดการถกเถียงและตกผลึกทางความคิดที่เกิดการเรียนรู้สูงสุด อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเรียนรู้บนโลกออนไลน์แล้ว การเรียนรู้แบบพบปะกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนยังมีความสำคัญเช่นกันในแง่กระสร้างจิตสำนึกต่อผู้เรียนและกระตุ้นการเรียนรู้ โดยเพิ่มความสัมพันธ์รูปแบบ Blended Learning หรือ Hybrid Learning คือ มีการผสมผสานการเรียนรู้ทั้งแบบดิจิทัลและการเรียนรู้ผ่านชั้นเรียนมากขึ้น หรือมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลส่งเสริมการเรียนรู้มากกว่าร้อยละ ๓๐ ของชั่วโมงการเรียน ซึ่งกำลังมีการปรับตัวในรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยในสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก

           ดร.สุธิดา จักษ์เมธา Director of International Collaboration & Academic Coordinator สถาบัน Macquarie Education Group Australia (MEGA) กล่าวว่า ประสบการณ์จากการเรียนการสอนบนแฟลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศออสเตรเลีย เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนรู้ THAI MOOC ในประเทศไทย เห็นว่ารัฐบาลออสเตรเลียลงทุนส่งเสริมการเรียนรู้ดังกล่าวด้วยงบประมาณสูง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งแบบ Online และ Offline โดยระบบการเรียนรู้ของออสเตรเลียยังสามารถเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพที่สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ อย่างไรก็ดี คุณภาพการเรียนรู้คือสิ่งสำคัญ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมความพร้อมของเด็กคือผู้เรียนให้สามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้เต็มที่ทั้งเรื่องทักษะดิจิทัล และหน้าที่ของเด็กสำหรับการเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและมีความถนัด

ที่มา ข่าว สกศ.

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button