แนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและการสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียนรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
วันนี้ (19 พฤษภาคม 2563) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ดังนี้
แนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและการสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียนรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและการสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียน รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
สาระสำคัญ
1. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปิดเรียนของโรงเรียนในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 ได้ประกาศให้โรงเรียนทั้งในและนอกระบบซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ดังนี้
1.1 ปฏิทินการเปิดภาคเรียน ตามกรอบโครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐานที่กำหนดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 200 วันต่อปีการศึกษา จำแนกเป็น 2 ภาคเรียน ดังนี้
– ภาคเรียนที่ 1/2563 กำหนดเปิดภาคเรียนระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 13 พฤศจิกายน 2563 รวมจำนวนวันเรียน 93 วัน และกำหนดปิดภาคเรียนระหว่างวันที่ 14-30 พฤศจิกายน 2563 รวมจำนวนวันปิดภาคเรียน 17 วัน
– ภาคเรียนที่ 2/2563 กำหนดเปิดภาคเรียนระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 9 เมษายน 2564 รวมจำนวนวันเรียน 88 วัน และกำหนดปิดภาคเรียนระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 16 พฤษภาคม 2564 รวมจำนวนวันปิดภาคเรียน 37 วัน
– เวลาที่ขาดหายไป 19 วัน ให้โรงเรียนสอนชดเชยเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนครบตามหลักสูตร
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้เป็นประธานการประชุมหารือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักจัดประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทุกคนได้รับสิทธิตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ที่มีคุณภาพ ถูกหลักอนามัย อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน
3. กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมหารือเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 โดยมีข้อสรุปแนวทางดำเนินการที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ดังนี้
3.1 โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนม จำนวน 260 วันต่อปีการศึกษา ตามประกาศของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 และ (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563 จึงมีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้
– กรณีภาคเรียนที่ 1/2563 เปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
– กรณีภาคเรียนที่ 1/2563 เปิดภาคเรียนหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หรือกรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือกรณีการสลับวันมาเรียน ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
3.2 โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวัน จำนวน 200 วันต่อปีการศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ที่เห็นชอบให้นักเรียนตั้งแต่เด็กเล็ก และชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันทุกคน จำนวน 200 วัน และเพิ่มเงินอุดหนุนจากอัตรา 10 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 13 บาท ต่อคนต่อวัน และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ที่ให้เพิ่มเงินอุดหนุนเป็นอัตรา 20 บาท ต่อคนต่อวัน จึงมีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้
– กรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือกรณีการสลับวันมาเรียน ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายงบประมาณค่าอาหารกลางวันนักเรียนให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนเพื่อนำไปจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานที่บ้าน ทั้งนี้ ให้รวมถึงอาหารมื้ออื่น ๆ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเคยจัดให้ ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
– กรณีการจัดการเรียนการสอนชดเชย ให้โรงเรียนดำเนินการจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนได้เช่นเดียวกับวันจัดการเรียนการสอนตามปกติ
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ได้พิจารณาว่า สืบเนื่องจากการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ประกอบกับความประสงค์ให้นักเรียนได้รับสิทธิตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ในช่วงการปิดภาคเรียนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและครบถ้วน
จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ถูกหลักอนามัย อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน โดยให้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้นักเรียนที่ไม่ได้มาโรงเรียนได้รับอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวันด้วย กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทุกคนได้รับสิทธิตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนที่มีคุณภาพถูกหลักอนามัย อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน โดยให้สอดคล้องกับปฏิทินการเปิดภาคเรียน
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย