ข่าวการศึกษา

ก.ค.ศ. ประชุมหารือเตรียมทดลองใช้ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่ (PA) ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 177 โรงเรียน (สตูล ระยอง และศรีสะเกษ)

ก.ค.ศ. ประชุมหารือเตรียมทดลองใช้ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่ (PA)ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 177 โรงเรียน

วันนี้เว็บไซต์ ก.ค.ศ.  ได้เผยแพร่ข่าว การประชุมหารือของ ก.ค.ศ. ดังนี้

วันที่ 4 มีนาคม 2564 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นประธานการประชุมหารือการวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเตรียมการทดลองประเมินวิทยฐานะตามระบบใหม่ของ สำนักงาน ก.ค.ศ.ณ ห้องประชุมจรูญ มิลินทร์ (ห้องประชุม 1 ชั้น 7) อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใหม่ รวมถึงได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน และสายงานบริหารสถานศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการทดลองใช้ระบบการประเมินแบบใหม่ สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้เชิญสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ของ สพฐ. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ทัณตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ นางปิยาภรณ์ มัณฑจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่นวัตกรรม 3 จังหวัด พร้อมกับผู้แทน สพฐ. ได้แก่ นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และนายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เข้าร่วมการประชุมหารือ เตรียมทดลองใช้ระบบประเมินวิทยฐานะฯ ใหม่ ในโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล จำนวน 14 โรงเรียน จังหวัดระยอง จำนวน 47 โรงเรียน และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 116 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 177 โรงเรียน ซึ่งจะเริ่มทดลองในภาคเรียนหน้า โดยจะให้ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) และจะทดลองประเมินผลงาน คลิปการสอน และพัฒนาผู้ประเมินภายในเวลาเดียวกัน

โดยการทดลองประเมินวิทยฐานะฯ ตามระบบใหม่ เป็นการทดลองว่าวิธีการประเมินจะเป็นไปตามตัวชี้วัด ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เช่น ทดลองจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาการสอน การทำข้อตกลงในการประเมินระหว่างครูกับผู้อำนวยการสถานศึกษา การทำข้อตกลงในการประเมินระหว่างผู้บริหารสถานศึกษากับผู้บังคับบัญชาขั้นต้น การผลิตสื่อวิดีทัศน์บันทึกการสอนเพื่อใช้ในการประเมินวิทยฐานะฯ ใช้เวลาในการทดลองในช่วง 1 ภาคเรียน หลังจากนั้นจะได้นำข้อมูลมาประเมิน สรุปผล และดำเนินการสร้างความเข้าใจในหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะฯ ตำแหน่งครู และตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ก่อนที่จะเปิดใช้ระบบ Digital Performance Appraisal : DPA พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564

ที่มา : ก.ค.ศ. 

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button