ข่าวการศึกษา

คำแถลงนโยบายราชการ รมว.ศธ นางสาวตรีนุช เทียนทอง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

คำแถลงนโยบายราชการ รมว.ศธ นางสาวตรีนุช เทียนทอง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

คำแถลงนโยบายการจัดการศึกษา ของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

เรียน ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองปลัดกระทรวง
ศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และ
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านคะ (อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม)

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มาเข้ารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ ดังที่ดิฉันและทุกท่านทราบดีว่า ภารกิจด้านการศึกษานั้นเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ ซึ่งเป็นวันก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการของเรา ที่แต่เดิมมีชื่อว่า“กระทรวงธรรมการ” นับจนถึงวันนี้ ซึ่งในอีกสามวันข้างหน้าก็จะครบรอบ ๑๒๙ ปีแห่งการสถาปนาพอดีองค์กรของเรามีทั้งเรื่องราวและผู้คนมากมายผ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน มีวิกฤตและโอกาสเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนอีกทั้งในปัจจุบันนี้ สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังที่มีคำกล่าวว่าเป็น “โลกไร้พรมแดน”จึงนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างยิ่ง ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่บนความคาดหวังของสังคม

ดิฉันมีความคิดเห็นว่า พวกเราจะต้องสร้าง “ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ” หรือ “TRUST” ให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและผู้ปกครอง ว่าเราสามารถที่จะเป็นหลัก หรือที่พึ่งให้กับพวกเขาได้

“TRUST” หมายถึง “ความไว้วางใจ”
เป็นรูปแบบการทำงานที่จะทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน กลับมาให้ความไว้วางใจในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง

โดย T ย่อมาจาก Transparency (ความโปร่งใส)
R ย่อมาจาก Responsibility (ความรับผิดชอบ)
U ย่อมาจาก Unity (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว)
S ย่อมาจาก Student-Centricity (ผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา)
T ย่อมาจาก Technology (เทคโนโลยี)

รูปแบบการทำงาน “TRUST” คือการพัฒนาต่อยอดจากรูปแบบการทำงาน “MOE ONE TEAM” หรือ“การทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ” ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่ง “TRUST” จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมในเรื่องความโปร่งใส ทั้งในเชิงกระบวนการทำงานและกระบวนการตรวจสอบจากภาคส่วนต่าง ๆ การสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนดำเนินการตามภารกิจของตนด้วยความรับผิดชอบต่อตัวเอง องค์กร ประชาชน และประเทศชาติ ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (Participation) ผ่านกลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นพื้นที่ของทุกคน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือ การมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยการทำให้ผู้เรียนมีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากลสอดคล้องกับพลวัตในศตวรรษที่ ๒๑ ควบคู่ไปกับสำนึกและความเข้าใจในความเป็นไทย ผ่านการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ทั้งในเชิงโครงสร้าง (Infrastructure) คือ การเข้าถึงสิ่งจำเป็นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษา และในเชิงการเรียนรู้ (Learning) คือ
แหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัย และจะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนถึงพร้อมซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทุกประการ

เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ(พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ การพัฒนาเด็กตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย การพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น การพัฒนาและยกระดับศักยภาพวัยแรงงาน รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพวัยผู้สูงอายุ ประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่๒๑ และพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องดิฉันจึงขออนุญาตนำเสนอนโยบายการจัดการศึกษาทั้ง ๑๒ ข้อ ดังนี้

ข้อ ๑ การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย

ข้อ ๒ การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูและอาจารย์ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิทัล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัย และมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน

ข้อ ๓ การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ(NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัยและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบออนไลน์ และการนำฐานข้อมูลกลางทางการศึกษามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา

ข้อ ๔ การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน  โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อกำหนดให้มีระบบบริหารและการจัดการ รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน มีระบบการบริหารงานบุคคลโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

ข้อ ๕ การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ เพื่อให้ระบบการประเมินผลการศึกษาทุกระดับและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบสนองผลลัพธ์ทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม

ข้อ ๖ การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษามีความเป็นธรรมและสร้างโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้างการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกลุ่มอื่น ๆ กระจายทรัพยากรทั้งบุคลากรทางการศึกษา งบประมาณและสื่อเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง

ข้อ ๗ การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติเป็นการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศโดยใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษาและการอาชีพโดยใช้กลไกการเทียบโอนประสบการณ์ด้วยธนาคารหน่วยกิตและการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาที่สามารถอ้างอิงอาเซียนได้

ข้อ ๘ การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ

ข้อ ๙ การศึกษาเพื่ออาขีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้

ข้อ ๑๐ การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาผ่านระบบดิจิทัล

ข้อ ๑๑ การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

ข้อ ๑๒ การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดความนิยมในรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ (Online) มากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเตรียมผู้เรียนไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ (Resilience) รวมถึงปัญหาความปลอดภัยของสถานศึกษาและปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดิฉันจึง  เสนอให้มีวาระเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังต่อไปนี้

วาระที่ ๑ เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน
โดยจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคม

วาระที่ ๒ หลักสูตรฐานสมรรถนะ
มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ

วาระที่ ๓ Big Data
พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมการศึกษาของประเทศที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

วาระที่ ๔ ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center)
สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ตามความเป็นเลิศของแต่ละสถานศึกษาและตามบริบทของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนมีการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน

วาระที่ ๕ พัฒนาทักษะทางอาชีพ
ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วาระที่ ๖ การศึกษาตลอดชีวิต
การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ประชาชนในแต่ละช่วงวัยได้รับการศึกษาตามความต้องการอย่างมีมาตรฐาน เหมาะสมและเต็มตามศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา และพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

วาระที่ ๗ การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพสามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม สามารถช่วยเหลือตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่ให้ความกรุณาสละเวลาอันมีค่า มาให้การต้อนรับดิฉันและเข้าร่วมรับฟังการมอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงาน ดิฉันตระหนักดีว่า ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการนี้มีอยู่มากมาย ทั้งที่ยังรอการดำเนินงานและที่จะริเริ่มโครงการขึ้นใหม่ จำต้องอาศัยความมุมานะ พยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และนั่นคือสิ่งที่ยากที่สุดเพราะผลสัมฤทธิ์ของภารกิจด้านการศึกษานั้นไม่อาจระบุได้ว่า เท่าไร เมื่อไร จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จดุจดังเรื่องราวของ “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นแบบอย่างแห่งพระโพธิสัตว์ผู้ถึงพร้อมด้วยวิริยะบารมีทรงแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรท่ามกลางวาตภัยแลสัตว์ร้ายที่พร้อมจะแผ้วพาน กระนั้นก็ทรงแน่วในพระราชปณิธานที่จะว่ายต่อไปให้ “ถึงฝั่ง” เพื่อยังประโยชน์แก่อาณาราษฎร โดยการขึ้นครองสิริราชสมบัติปกครองมิถิลานครสืบไปขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล ตลอดจนพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แลพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์จงดลบันดาลประทานพรให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ประสบแต่ความสุข ความเจริญ เข้าถึงความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลมกำลังกายที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจด้วยความไว้วางใจ เพื่อร่วมไปให้ “ถึงฝั่ง” ด้วยกันนะคะ

ไฟล์ PDF : คำแถลงนโยบายราชการ รมว.ศธ นางสาวตรีนุช เทียนทอง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

ที่มา : สพฐ.

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button