คลอดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
วันนี้(22 ก.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนได้ชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบถึงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เรื่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยการเดินหน้านโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการบริหารจัดการเวลาเรียน ซึ่งเป็นการจัดโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ แบ่งเป็นระดับประถมศึกษาเรียนจริงในห้องเรียนจากเดิม 30-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และระดับมัธยมศึกษาจากเดิม 35ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยการปรับโครงสร้างเวลาเรียนนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนในกลุ่มวิชาหลักอย่างแน่นอน ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่
1.สร้างเสริมสมรรถนะการเรียนรู้
2.สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม และ
3.สร้างเสริมทักษะการทำงานการดำรงชีพ และทักษะชีวิต
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ซึ่งในแต่ละหมวดแบ่งเป็น 13 กิจกรรม เช่น กิจกรรมพัฒนาการสื่อสาร การคิดการใช้เทคโนโลยี การปลูกฝังรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ การมีจิตสาธารณะ การตอบสนองความถนัดของผู้เรียนแต่ละบุคคล ฝึกทักษะอาชีพ และเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตในสังคม เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้มีโรงเรียนที่สมัครใจและพร้อมเข้าร่วมเดินหน้านโยบายดังกล่าวแล้วเกือบ 3,000 โรง ซึ่งหลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะไปดำเนินการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดเวิร์คช็อปการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมตั้งทีมเทรนเนอร์กว่า 200 ทีม เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงอบรมครูให้ทราบถึงรูปแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ด้วย และจะมีการประเมินผลโครงการหลังจากดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง หากประสบความสำเร็จก็ขยายผลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปีการศึกษาหน้าทันที
“ผมมองว่าระบบการศึกษาที่สมบูรณ์แบบจะต้องมีทักษะ 3 ด้าน คือ ทักษะสมองในการคิดวิเคราะห์ ทักษะหัวใจในการสร้างทัศนคติที่ดี และทักษะการใช้มือในการลงมือปฎิบัติให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งทักษะดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเรื่อง พุทธิศึกษา (ความรู้) จริยศึกษา(คุณธรรม) หัตถศึกษา (อาชีพ) และพลศึกษา (สุขนามัยโภชนาการ)”
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้นั้นจะไม่ส่งผลกระทบทางวิชาการโดยเฉพาะการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ขอให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นว่า เด็กทุกคนจะมีทักษะการคิดวิเคราะห์และมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น เพราะทุกกิจกรรมที่ ศธ.ดำเนินการเป็นการบูรณาการจากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรมกลุ่มศิลปิน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/education/349739