ข่าวการศึกษา

ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน ทำไมปรับไม่เท่ากัน มีหลักคิดอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน ทำไมปรับไม่เท่ากัน มีหลักคิดอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศเรื่อง ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน ปีงบประมาณ 2567  เมื่อวันที่  9 พฤศจิกายน 2565  วันนี้ rukkroo.com ได้ข้อมูลการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565  เวลา 09.00 น. โดยมี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน (เพิ่มขึ้นอัตราเฉลี่ย 24 บาท/คน/วัน ในภาพรวม ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ขนาดของโรงเรียน (จำแนกตามจำนวนนักเรียน)อัตราค่าอาหารกลางวัน (บาท/คน/วัน)
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1 – 40 คน36
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41 – 100 คน27
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101 – 120 คน24
โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป22

โดยให้ ศธ. เนินการตามความเห็นสำนักงบประมาณต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. ตามที่รัฐบาลได้จัดให้มีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการในเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนประถมศึกษา 5 สังกัด [ได้แก่ (1) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) (2) โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด อปท. (รวมทั้งที่จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน) (3) โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) (4) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง) และ (5) สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ] โดยจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) (ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542) ซึ่ง สถ. ได้จัดตั้งและจัดสรรงบประมาณมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนทุกคนตั้งแต่เด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากอัตรา 20 บาท/คน/วัน เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน (โดยใช้หลักวิธีการหาค่าเฉลี่ยของอัตราตามจำนวนนักเรียน) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564)

2. ต่อมา ศธ. ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เรื่อง ขอปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน โดยขออนุมัติเป็นหลักการให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากอัตรา 21 บาท/คน/วัน เป็นอัตรา 28 บาท/คน/วัน เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นไป) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (6 กันยายน 2565) เห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาเรื่อง ขอปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ออกไปก่อน

3. ศธ. (สพฐ.) จึงได้จัดประชุมหารือแนวทางการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน (20 กันยายน 2565) ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (กรมอนามัย) สงป. เพื่อหาข้อสรุปของแนวทางการขอปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนที่เหมาะสม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันอัตราตามขนาดของโรงเรียนในอัตราเฉลี่ย 24 บาท/คน/วัน ในภาพรวม โดยให้มีการกำหนดโครงสร้างอัตราตามขนาดโรงเรียนเป็น 4 ระดับ โดยการประชุมดังกล่าว     มีประเด็นต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้

3.1 ในการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ควรคำนึงถึงปริมาณสารอาหารที่นักเรียนควรได้รับให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการและนักเรียนสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องสอดคล้องกับหลักการของการจัดสรรงบประมาณที่คุ้มค่า และควรมีระยะเวลาที่เหมาะสมหากจะมีการปรับในครั้งต่อไป ทั้งนี้ อาจมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดแนวทางเดียวกันในการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันในครั้งต่อไป
3.2 การปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียนจะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี โดยควรกำหนดเกณฑ์ในการแบ่งขนาดของโรงเรียนให้ชัดเจนว่าใช้หลักเกณฑ์ใดเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้สะดวก ซึ่ง สพฐ. ได้กำหนดขนาดของโรงเรียนขนาดเล็กไว้คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน เนื่องจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหากปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็นอัตราตามขนาดของโรงเรียนจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยจะได้รับงบประมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการงบประมาณทำให้นักเรียนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่จะสามารถดำเนินงานภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรได้

3.3 การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นอัตราตามขนาดของโรงเรียนมีฐานในการคำนวณ ดังนี้
3.3.1 เมื่อมีนักเรียนมากขึ้น การซื้อวัตถุดิบในปริมาณมากจะทำให้ได้ราคาที่ถูกลง ซึ่งสามารถนำเงินค่าวัตถุดิบเหลือมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการได้ โดยโรงเรียนแต่ละขนาดจะมีอัตราค่าวัตถุดิบและค่าบริหารจัดการ ดังนี้
หน่วย : บาท

ขนาดของโรงเรียนค่าวัตถุดิบค่าบริหารจัดการรวม
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1 – 40 คน231336
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41 – 100 คน23427
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101 – 120 คน23124
โรงเรียนที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป22022
หมายเหตุ : ค่าบริหารจัดการ เช่น ค่าเครื่องปรุงอาหาร ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าจ้างแรงงานแม่ครัวประกอบอาหาร เป็นต้น โดยเพิ่มขึ้นจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น

3.3.2 ปรับเมนูอาหารที่มีความหลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ในท้องถิ่นและตามฤดูกาลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้มีงบประมาณเหลือมาใช้สำหรับเป็นค่าบริหารจัดการได้
3.3.3 สถานศึกษาจัดอาหารกลางวันของแต่ละสัปดาห์ตามหลักโภชนาการที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ และควรวางแผนการจัดเมนูอาหารกลางวันล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
4. การขอปรับค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกสังกัด จำนวน 51,058 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 5,912,520 คน (ข้อมูลปีการศึกษา 2565 ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565) ตามขนาดโรงเรียน จำนวน 200 วัน (นับเฉพาะวันที่มีการเรียนการสอนที่โรงเรียน) สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท

ช่วงจำนวน
นักเรียน (คน)
(1)
จำนวน
นักเรียน (คน)
(2)
งบประมาณในอัตรา 21 บาท/คน/วัน
(3) = (2) x 21 บาท x 200 วัน
อัตราที่
ขอปรับเพิ่ม
(4)
งบประมาณ
ทั้งหมด
(5) = (2)x(4)x200 วัน
งบประมาณ
ที่เพิ่มขึ้น
(6)=(5)-(3)
1 – 40403,7681,695.83362,907.131,211.30
41 – 1001,126,2464,730.23276,081.731,351.50
101 – 120234,949986.79241,127.76140.97
121 ขึ้นไป4,147,55717,419.742218,249.25829.51
รวม5,912,52024,832.5928,365.873,533.28

 

จากตารางข้างต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพิ่มขึ้น จำนวน 3,533.28 ล้านบาท โดย ศธ. จะดำเนินการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป และจะดำเนินการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีรายการค่าใช้จ่ายค่าอาหารกลางวันของนักเรียนตามอัตราดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ ดังนี้
1) เห็นชอบในหลักการของการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนในอัตราตามขนาดของโรงเรียน ตามที่ ศธ. เสนอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียนปรับมาใช้อัตราดังกล่าวด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และบริหารจัดการให้สอดคล้องกับขนาดของโรงเรียนและจำนวนนักเรียนในขั้นตอนการบริหารงบประมาณอย่างเหมาะสมด้วย
2) สำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว หรือพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินเป็นลำดับแรกก่อน หากไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก็ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม
3) สำหรับในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป โดยคำนึงถึงการนำเงินนอกงบประมาณมาสมทบ ตลอดจนการกำหนดแนวทางการบริหารโครงการอาหารกลางวันเพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพทางโภชนาการตามมาตรฐานสากล ปลอดภัย และมีการวางแผนการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติ สำหรับการสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย

ขอบคุณที่มา : สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 8 พฤศจิกายน 2565

ลิ้งก์ที่เกี่ยวข้อง : ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน ปีงบประมาณ 2567 โรงเรียนขนาดเล็กสูงสุด 36 บาท ขนาดกลาง 22 บาท

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button