ตรีนุชเผย สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต่อไปจะเป็นรูปแบบ e-Testing ทั้งหมด
ตรีนุชเผย สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต่อไปจะเป็นรูปแบบ e-Testing ทั้งหมด
ข่าวจาก ศธ 360 องศา : “ตรีนุช” ลงพื้นที่ตรวจสนามสอบรับ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เผยการสอบครั้งต่อไปจะเปลี่ยนเป็นระบบ e-Testing ทั้งหมด
(25 ธ.ค. 65) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา, ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ, ผศ.ดร.นวรินทร์ ตาก้อนทอง รองผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มศว, และคณะผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสนามสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ณ สนามสอบโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพฯ
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
โดยเป็นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ดำเนินการจัดการทดสอบฯ พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24 – 25 ธันวาคม 2565 จำนวน 4 วิชา ได้แก่ วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา และวิชาชีพครู ใน 9 สนามสอบ และจะประกาศผลสอบวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ https://ksp.thaijobjob.com/202211/index.php หรือผ่านระบบ “KSP Self-Service” ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยตรวจสอบและพิมพ์ผลการทดสอบฯ เป็นรายบุคคล ในรายวิชาที่เข้าทดสอบผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการจัดการทดสอบฯ ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ทุกสนามสอบมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อย่างเคร่งครัด รวมถึงมีผู้มีสิทธิ์เข้าสอบที่เป็นกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เป็นผู้บกพร่องทางการเห็น ผู้ตั้งครรภ์ บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางร่างกาย เป็นต้น ขณะที่บางคนต้องนั่งวิลแชร์ ซึ่งทางสนามสอบต่าง ๆ ก็ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าสอบให้อย่างเหมาะสม รวมถึงข้อสอบที่ใช้ในการสอบก็เป็นไปตามมาตรฐานในการจัดสอบด้วย
“การสอบครั้งนี้เป็นการใช้ Paper-Based Testing เป็นครั้งสุดท้าย โดยกระทรวงศึกษาธิการและคุรุสภาพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการสอบให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครั้งต่อไปจะใช้การสอบรูปแบบ e-Testing ทั้งหมด ส่งผลให้ใช้คนน้อยลง ไม่ต้องเดินทางและประหยัดเวลา สำหรับวิชาที่สอบก็จะลดลงจากเดิมที่ทุกคนต้องสอบ 4 + 1 วิชา แต่ในการสอบครั้งต่อไปจะสอบเพียงแค่วิชาเอกและวิชาชีพครูเท่านั้น เช่น ครูนาฏศิลป์ก็สอบวิชาเอกนาฏศิลป์กับวิชาชีพครูเท่านั้น โดยไม่ต้องสอบวิชาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป้าหมายเราต้องการคัดคนมาเป็นครูที่ตรงวิชาเอกจริง ๆ โดยจะเริ่มสอบระบบนี้ในครั้งต่อไปช่วงเดือนมีนาคม 2566” นางสาวตรีนุช กล่าว
ในการทดสอบฯ ครั้งที่ 2 ผู้มีสิทธิ์เข้าทดสอบทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวมทุกวิชา 156,256 ที่นั่ง มี 9 ศูนย์สอบ 20 สนามสอบ จำแนกผู้มีสิทธิ์เข้าสอบตามสนามสอบ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ สนามสอบกรุงเทพฯ 24,636 คน จังหวัดนครปฐม 13,523 คน จังหวัดเชียงใหม่ 14,559 คน จังหวัดพิษณุโลก 15,561 คน จังหวัดชลบุรี 6,148 คน จังหวัดขอนแก่น 36,551 คน จังหวัดนครราชสีมา 19,130 คน จังหวัดสงขลา 17,287 คน และจังหวัดสุราษฎ์ธานี 8,853 คน
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ศธ 360 องศา : https://moe360.blog/2022/12/25/251265/