ข่าวการศึกษา

สพฐ.กำชับโรงเรียนดูแลความปลอดภัยก่อนเปิดเทอม

สพฐ.กำชับโรงเรียนดูแลความปลอดภัยก่อนเปิดเทอม

สพฐ. ห่วงใยเหตุวาตภัย อัคคีภัย อาคารสถานที่ กำชับโรงเรียนดูแลความปลอดภัยก่อนเปิดเทอม  ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้เป็นห้วงเวลาปิดภาคเรียนของสถานศึกษาทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และทรัพย์สินของทางราชการ จึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับหน่วยงานในสังกัด ให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ และเฝ้าระวังความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และทรัพย์สินของทางราชการ สพฐ. จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ให้เฝ้าระวังภัยและเตรียมการป้องกันเหตุต่างๆ ทั้งเหตุวาตภัย อัคคีภัย รวมถึงความปลอดภัยด้านอาคารสถานที่ อาทิ ระบบไฟฟ้า สายไฟ อุปกรณ์ ระบบตัดไฟ การตัดแต่งต้นไม้บริเวณอาคาร และดูแลสิ่งก่อสร้างใกล้อาคาร ฯ ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ เพื่อดูแลความปลอดภัยในห้วงเวลาปิดภาคเรียน และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2567 ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สำหรับเหตุวาตภัยนั้น สพฐ. ได้ถอดบทเรียนจากเหตุพายุหมุนพัดถล่มโดมอเนกประสงค์ของโรงเรียนวัดเนินปอ จังหวัดพิจิตร ซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นอกจากการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ต้องมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยสถานศึกษาต้องมีการสำรวจความมั่นคงแข็งแรงของอาคารและสิ่งปลูกสร้างอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีอายุเกิน 25 ปี หากพบปัญหาความเสี่ยง ให้รายงานหน่วยงานต้นสังกัดทราบ เพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการตรวจสอบอย่างละเอียด และขอรื้อถอน จำหน่ายพัสดุตามระเบียบของทางราชการ รวมถึงต้องมีการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านกำลังคน เครื่องมือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เครือข่ายการติดต่อสื่อสาร พร้อมสนับสนุนเผชิญเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน มีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ “หลักปฏิบัติตนในการป้องกันอันตรายจากวาตภัย” ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบในพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
.
ล่าสุด สพฐ. ได้รับแจ้งจาก สพท. ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัย (พายุฤดูร้อน) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในพื้นที่ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในห้วงวันที่ 8-11 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้อาคารต่างๆ ในโรงเรียนได้รับความเสียหาย พบว่ามี สพท. ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 8 เขตพื้นที่ และมีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 19 โรงเรียน โดยเหตุการณ์นี้ไม่มีนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ.ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด สพฐ. จึงได้ส่งหนังสือ เรื่อง มาตรการป้องกันภัยที่เกิดจากวาตภัย เพื่อให้ สพท. ทุกเขต และสถานศึกษาในสังกัด
.
เฝ้าระวังความปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันภัยที่เกิดจากวาตภัย ดังนี้
1. ติดตามการแจ้งเตือนภัย การสื่อสารความเสี่ยงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอนามัย สำนักงานการไฟฟ้า สื่อมวลชนในหลายช่องทาง เครือข่ายในพื้นที่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้รู้เท่าทันอย่างใกล้ชิด
2. ให้สถานศึกษาทุกแห่ง กำหนดให้มีระบบการสื่อสารที่รวดเร็ว ฉับไว จัดให้มีแผนเผชิญเหตุ มีการฝึกซ้อมตามแผนเผชิญเหตุ มีระบบข้อมูลการติดต่อหน่วยงาน เครือข่ายในพื้นที่ หากสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
3. ให้มีการแจ้งเตือนไปยัง นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ดูแลสุขภาพและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
4. หากมีต้นไม้ขนาดใหญ่ใกล้อาคาร อาคารเรียน
หรือบริเวณโรงเรียน หรืออยู่ใกล้พื้นที่ป่า ให้ตัดแต่งไม้ภายในโรงเรียน และจัดทำแนวป้องกันไฟฟ้า พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้มาช่วยเหลือสนับสนุน
5. ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่มีความพร้อมและปลอดภัยสำหรับการใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ
6. หาก สพท. และสถานศึกษาใดที่สามารถอำนวยความสะดวกใช้เป็นสถานที่อพยพและศูนย์พักพิงชั่วคราวกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ
และเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินให้รายงานผลกระทบจากการประสบเหตุวาตภัยให้ต้นสังกัดทราบทันที
.
ทางด้านมาตรการป้องกันภัยที่เกิดจากอัคคีภัยนั้น ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด เฝ้าระวังความปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันภัยที่เกิดจากอัคคีภัย ดังนี้
1. กระตุ้นเตือนให้นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา ตระหนักถึงภัยที่เกิดจากอัคคีภัย พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยที่เกิดจากอัคคีภัย
2. ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอัคคีภัยอย่างสม่ำเสมอ
3. ควรปิดไฟ ปิดพัดลม และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน
4. ผู้บริหารสถานศึกษาต้องให้ความสำคัญในเรื่องอัคคีภัย
5. จัดให้มีเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายเพื่อแจ้งเหตุเมื่อเกิดอัคคีภัย
6. ติดตามสถานการณ์จากข่าวสารของทางราชการ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทางราชการ ภาคีเครือข่าย รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น
7. ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัย ด้านภัยพิบัติธรรมชาติและด้านอาคารสถานที่ภายในสถานศึกษาและเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินให้รายงานผลกระทบจากการประสบเหตุอัคคีภัยให้ต้นสังกัดทราบทันที
.
“พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้กำชับมาตรการการเตรียมความพร้อมช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งได้แจ้งไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้เฝ้าระวังความปลอดภัยในด้านต่างๆ ทั้งด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ด้านอาคารสถานที่ภายในสถานศึกษา ด้านความปลอดภัยของนักเรียนในการเดินทาง การเฝ้าระวังระงับเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงและการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนในช่วงปิดภาคเรียน การเฝ้าระวังป้องกันการจมน้ำในช่วงปิดภาคเรียน และหากเกิดกรณีประสบเหตุ หรือได้รับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ดำเนินการตามมาตรการกำกับติดตามและรายงานเหตุความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่ต้องการยกระดับการศึกษาควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกายและใจ ของนักเรียนและครู ซึ่ง สพฐ. เห็นความสำคัญและขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนและครูทั่วประเทศ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
สพฐ.กำชับโรงเรียนดูแลความปลอดภัยก่อนเปิดเทอม
สพฐ.กำชับโรงเรียนดูแลความปลอดภัยก่อนเปิดเทอม
ที่มาของข่าว : เพจ ศึกษามาแล้ว

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button