ข่าวการศึกษา

เดินหน้าปฏิรูปหลักสูตร’59 คลื่นลูกแรกที่เกิดจากนโยบาย ’ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้’

เพชร เหมือนพันธุ์
แรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการประกาศนโยบายของท่าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาฟเตอร์ช็อกลูกแรกที่จะตามมาคือ การปฏิวัติหลักสูตร (Curriculum Revolution) ครับ อยากใช้คำว่าปฏิวัติ (Revolution) เพราะหลักสูตร (Curriculum) เป็นพิมพ์เขียว (Blue Print) ที่จะกำหนดรูปร่างหน้าตาของเด็กในอนาคต ต้องให้มองเห็นภาพของคนไทยที่ในอนาคตมีศักยภาพในการแข่งขันสูงให้ได้
คนที่ออกแบบหลักสูตรจึงต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ต้องเป็นวิศวกรทางหลักสูตรการศึกษา และต้องเป็นสถาปนิกทางสังคม สมัยก่อนคนกลุ่มนี้จะอยู่ในกรมวิชาการ ปัจจุบันกรมนี้ตายแล้ว “จะเอาคนที่ไม่เคยรู้เรื่องการออกแบบหลักสูตรไปออกแบบหลักสูตรเป็นไปไม่ได้”เพราะคนแบบบ้านๆ ก็จะปรุงอาหารได้แบบบ้านๆ เท่านั้น แม้ได้เนื้อได้ปลามา ก็คงจะปรุงอาหารได้แต่ประเภทลาบ ผัด แกง คั่ว เท่านั้น คงไม่สามารถจินตนาการออกว่ามันสามารถนำไปปรุงเป็นสเต๊ก (Steak) ได้ หรือเป็นอาหารสำเร็จรูปได้
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหรือปฏิวัติหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องเกิดขึ้น และต้องจัดให้ได้อย่างมีคุณภาพด้วย โดยช่างหรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น
รับประทานอาหารอะไรหน้าตาคุณก็จะเป็นเช่นนั้น (You are what you eat) ในโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงในศตวรรษที่ 21 นี้ เราคงจะใช้เรือลากจูง (เรือเอี้ยมจุ้น) แบบเดิมๆ เข้าไปสู่สนามแข่งขันความเร็วสูงในเวทีอาเซียนหรือเวทีโลกไม่ได้แล้ว เราต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องกล้าที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ต้องเปิดใจกว้าง ต้องมีความรอบรู้จริง ต้องเปิดตากว้างเห็นคู่แข่งมา รอบโลก และต้องมองให้เห็นภาพในอนาคตให้ได้ ลงทุนหน่อยครับ ส่งคนไทยไปเรียนรู้จากประเทศที่เขาประสบผลสำเร็จมาหน่อย
จากนโยบาย “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” วิชาแกน (Core Subject) ต้องเข้มแข็งต้องเป็นสากล วิชาแกนหลักของหลักสูตรอาจเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมก็ได้ ให้ดูตัวอย่างจากสถาบันการศึกษาของนานาประเทศที่เขากำหนดวิชาแกนเป็นต้นแบบ วิชาแกนของไทยเดิมมี 8 วิชา อเมริกามี 9 วิชา ส่วนวิชาประกอบหรือวิชาเลือก วิชาเลือกเสรี หรือวิชาทักษะชีวิต (Skill Subject) ต้องกล้าตัดของเก่าที่เป็นขยะทิ้งไป เพิ่มทักษะในอนาคต หรือ ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ที่จะเกิดขึ้นตามพลังขับของโลกดิจิตอล ซึ่งหลายประเทศกำลังตื่นตัวเพื่อเตรียมทีมเข้าสู่สนามแข่งขันในศตวรรษที่ 21 นี้

          ในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก ได้ตื่นตัวมีความวิตกกังวลต่อศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงมองเห็นภัยจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จำเป็นที่ประเทศต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทันกับโลกในยุคดิจิตอล จึงให้บรรจุทักษะที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เข้าไปในโรงเรียน “เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน หลักสูตรการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนตาม”
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกาคือ องค์กรเอกชนชื่อ “ภาคีเพื่อ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ” (Partnership for 21st Century Skills) ซึ่งประกอบด้วย บริษัทขนาดใหญ่ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ หน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ มารวมตัวกัน ด้วยมีความกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในอนาคต เห็นว่า ประชาชนรุ่นใหม่จะต้องมีทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีพในอนาคต ได้รวมตัวกันเกิดเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ขึ้น ได้เลือก นายเคน เคย์ (Ken Kay, JD) เป็นผู้นำ รวมทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา และผู้ว่าราชการรัฐจำนวนมาก มาประชุมกันจนได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าต้องการเห็นนักเรียนอเมริกันมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันในระดับโลกได้ อเมริกาต้องกำหนดทักษะในศตวรรษที่ 21 ไว้ แล้วบรรจุไว้ในหลักสูตรของการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การพลิกโฉมนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของอเมริกา ด้วยนโยบายสั้นๆ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” เขาคาดว่า จะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการศึกษาก่อน ในขั้นต่อไปคือ ต้องการจะเห็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ วิธีดำเนินการคือ ครู ครูใหญ่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และกรรมการบริหารโรงเรียน รับเอากรอบความคิดนโยบายนี้ไปใช้ก่อนใคร
ผลปรากฏที่ตามมาคือ ครูบางคนได้เปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยี นักเรียนในชั้นได้ลองสิ่งใหม่ ได้ทำโครงการ ได้ตัดสินใจ และได้แก้ไขปัญหาที่สำคัญ แต่ก็ยังมีโรงเรียนบางส่วนที่ยังยึดติดกับแนวปฏิบัติและเนื้อหาของหลักสูตรโมเดลการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ในศตวรรษที่ 20 นั่นคือสภาพความโกลาหลที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนแปลง

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

          ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่อเมริกาค้นหามาได้และได้กำหนดไว้ในหลักสูตรมีอยู่ 5 ประการคือ
1. ทักษะแนวคิดที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ จิตสำนึกต่อโลก, ความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการ, ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง, ความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ, และความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม
2. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม มี 3 ประการคือ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม, การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ไขปัญหา, การสื่อสารการร่วมมือทำงาน
3. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี มีอยู่ 3 ปัจจัยคือ ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ, ความรู้พื้นฐานด้านสื่อ, ความรู้พื้นฐานด้านไอซีที
4. ทักษะแห่งชีวิตและการทำงาน มี 5 ปัจจัยคือ ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว, ความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง, ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม, การเพิ่มผลผลิตและความรู้รับผิด, ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ
5. ทักษะระบบสนับสนุนการศึกษาของศตวรรษที่ 21  มีปัจจัยอยู่ 4 ประการคือ มาตรฐานและการประเมินของศตวรรษที่ 21, หลักสูตรการสอนของศตวรรษที่ 21 การพัฒนาของวิชาชีพในศตวรรษที่ 21 และสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ที่ยกมาอ้างเพื่อประเทศไทย จะคิดจะเปลี่ยนตามเขาหรือไม่ ขอให้นำไปคิดต่อเนื่องครับ ปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งของประเทศไทยคือ ทักษะระบบสนับสนุนการศึกษาที่ประเทศเราต้องพัฒนาและยกระดับอยู่มีอยู่ 4 ประการคือ
1. มาตรฐานและการประเมินของศตวรรษที่ 21 มาตรฐานการศึกษาเราตกต่ำจนไม่น่าเชื่อ ประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าไปเกือบหมดแล้ว
2. คือ หลักสูตรและการสอน เรายังยึดติดวัฒนธรรมการสอนในศตวรรษที่ 20 อย่างเหนียวแน่น รื้อได้แล้ว
3. การพัฒนาวิชาชีพในศตวรรษที่ 21 โลกไปถึงไหนแล้ว
4. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้เปลี่ยนไปแล้ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และยุทธศาสตร์ใหม่ๆ มาให้ดูแล้ว
เมื่อสนามแข่งขันเปิดกว้างออกไปสู่ประชาคมโลก เราต้องรู้จักใช้สื่อเทคโนโลยีช่วยผลิต นวัตกรรมการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ในโลกในยุคดิจิตอลได้ก้าวเข้ามาแล้ว ความรู้ไม่ได้อยู่ที่ตัวครูหรืออยู่ในสถานศึกษาเท่านั้น แต่อยู่ในอากาศ อยู่ในทุกหนทุกแห่ง ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ไม่จำกัดสถานที่ไม่จำกัดเวลา ท่านไม่ลองไปหาเลือกเอาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของอเมริกา มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของไทยบ้างเลยหรือครับ
การปฏิรูปหลักสูตร มีสิ่งที่เรายังคงสภาพเดิมที่เป็นแกนเอาไว้ เรียกว่าหลักสูตรวิชาแกน ซึ่งของไทยเรามีอยู่ 8 รายวิชา ได้แก่ 1.ภาษาไทย 2.คณิตศาสตร์ 3.วิทยาศาสตร์ 4.สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 5. สุขศึกษาและพลศึกษา 6. ศิลปะ 7. การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ 8.ภาษาต่างประเทศ ส่วนของอเมริกา มีวิชาแกนอยู่ 9 รายวิชา ได้แก่ 1.ภาษาอังกฤษ การอ่านหรือศิลปะการใช้ภาษา 2. ภาษาสำคัญของโลก 3.ศิลปะ 4.คณิตศาสตร์ 5.เศรษฐศาสตร์ 6.วิทยาศาสตร์ 7.ภูมิศาสตร์ 8.ประวัติศาสตร์ และ 9.การปกครองและหน้าที่พลเมือง
ส่วนประเทศอื่นให้ไปสืบค้นดูครับ แนวคิดในวิชาแกนของแต่ละประเทศอาจไม่เท่ากัน แต่มีความเป็นสากลที่เหมือนกันเป็นแนวร่วมอยู่

          ในสิงคโปร์ เขาได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ก่อนโลกจะก้าวเข้าสู้ศตวรรษที่ 21 มากกว่า 10 ปี เขาใช้นโยบาย เรียนน้อยให้รู้มาก (Teach less Learn more) มานานแล้ว จากประเทศที่ไม่มีอะไรเมื่อ 50 ปีที่แล้ว กลายเป็นประเทศที่มีอะไรๆ อย่างมากมายในวันนี้ เพราะคนของเขามีศักยภาพ  เขาไม่ได้ขังเด็กไว้ในโรงเรียน ไว้ในห้องเรียนเป็นเวลานานๆ เหมือนเด็กไทย เด็กเราถูกครูเล่าเรื่องความรู้ เล่าเรื่องนิทานให้ฟังตลอดเวลา โดยไม่ได้ออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก โลกของความเป็นจริง หรือโลกเสมือนจริง พอถูกปล่อยออกไปในวันเรียนจบหลักสูตร เด็กเราก็ไปไม่เป็น คิดไม่ออก ตัดสินใจไม่ได้ ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าเสี่ยง ความรู้ที่ได้รับฟังจากครูในห้องเรียนมาใช้ไม่ได้ ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูก กิจกรรมนักเรียนก็เอาแต่เลือกที่จะรักสถาบันเลือกที่จะรักพวกสีจนลืมเป้าหมายอุดมการณ์ของการสร้างมนุษย์ ลองคิดทบทวนดูครับ นักการศึกษาเรามีความหวังดีต่อเด็กมากเกินไป เห็นอะไรที่ดีมากจากทั่วโลกก็เอามาจับยัดใส่ไว้ในโรงเรียน นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร โดยไม่ได้ดูว่า เด็กเขาต้องการบริโภคหรือไม่ หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานของไทยจึงแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระ เต็มไปด้วยขยะ เพราะผู้บริโภคเขาไม่ต้องการ ปลาไม่กินเบ็ด เหยื่อก็เลยเน่า
อุทาหรณ์ กระต่ายโง่ นำเอาหัวแครอตไปตกปลา (แครอตเป็นอาหารที่กระต่ายชอบที่สุด) ปรากฏว่าปลาไม่ยอมกินเหยื่อที่เบ็ด กระต่ายก็เลยต้องกลับบ้านมือเปล่า กระต่ายขยันไปตกปลาทุกวันใช้เหยื่อแครอตที่ตนเองชอบที่สุดทุกวัน ผลก็ปรากฏว่าไม่ได้ปลาทุกวัน จนวันหนึ่งปลามันหมั่นไส้ มันกระโดดขึ้นมาตรงหน้ากระต่ายแล้วบอกว่า ไอ้กระต่ายโง่ ถ้าแกยังเอาหัวแค รอตมาเป็นเหยื่อตกปลา แกก็จะต้องกลับบ้านมือเปล่าทุกวันแน่นอน เพราะปลามันไม่ได้ชอบแครอตเหมือนแก
ครับ อย่าป้อนอาหารในสิ่งที่ผู้ป้อนต้องการเพราะผู้บริโภคไม่รับ “จงสอนในสิ่งที่เด็กต้องการ อย่าสอนในสิ่งที่ครูต้องการ” หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยต้องปฏิวัติครับ ไม่ใช่ปฏิรูป

–มติชน ฉบับวันที่ 11 ก.พ. 2559 (กรอบบ่าย)–

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button