“บิ๊กหนุ่ย”ลั่นคลอดโครงสร้างใหม่ ศธ.ในรัฐบาลนี้
“ดาว์พงษ์” เผยต้องเขย่าโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ เล็งใช้การบริหารแบบซิงเกิลคอมมานด์ ที่มีการคานอำนาจ เร่งทำเป็นกฎหมาย ประกาศใช้ในรัฐบาลชุดนี้ ยันไม่งุบงิบรื้อโครงสร้าง ศธ.
เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ร่างโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ใหม่ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ นั้น ร่างโครงสร้างดังกล่าวเป็นของเก่าและยืนยันว่า ตนไม่ได้ปล่อยออกมาเพื่อโยนหินถามทาง และหากจะมีการปรับโครงสร้าง ศธ.จริง ก็จะไม่ทำแบบเป็นความลับแน่นอน ต้องถามผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามความคิดเห็น และปิดช่องว่างที่อาจเกิดขึ้น
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการเข้ามาบริหารงาน ศธ.ได้ 10 เดือนก็พอมองเห็นแล้วว่ามีปัญหาอะไรในการบริหารบ้าง และที่ผ่านมาทั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างของ ศธ.เข้ามา เพียงแต่รูปแบบการปรับโครงสร้างอาจจะแตกต่างกันบ้าง ซึ่งต้องมาดูและมีการเขย่าโครงสร้าง ศธ.ใหม่แน่นอน และตนก็ไม่ปฏิเสธการมีกรมวิชาการ ที่ขณะนี้มีการเสนอมา 2 รูปแบบ คือ 1.ยุบสำนักวิชาการของแต่ละองค์กร รวมกันเป็นกรมวิชาการและ 2.ตั้งเป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการวิชาการแห่งชาติ ตามข้อเสนอของ สนช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ
“ การจัดทำโครงสร้างใหม่ของ ศธ.จะนำปัญหามาคลี่ และโครงสร้างใหม่ต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ คนในองค์กรยอมรับ ปฏิบัติได้ ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าโครงสร้างใหม่ของ ศธ.ควรมีการบริหารแบบซิงเกิลคอมมานด์ (Single Command) หรือ การบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ แต่ต้องมีระบบการคานอำนาจ เพราะในอดีตที่ผ่านมา มีการกระจายอำนาจแล้ว พบว่าการบริหารงานไม่เชื่อมต่อ ทั้งนี้ ผมตั้งใจว่าจะพยายามผลักดันเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน 2560 และออกมาเป็นกฎหมาย หรืออยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ภายในรัฐบาลชุดนี้ และหากจะมีการปรับจากองค์กรหลัก เป็น กรม จริงในกฎหมายก็จะมีบทเฉพาะกาล ซึ่งผู้ปฏิบัติงานเดิมไม่เสียสิทธิ์เดิมที่เคยได้รับ”พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวและว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาติดขัดในการโยกย้าย ครูและผู้บริหารในพื้นที่ เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายนั้น เร็ว ๆ นี้ จะเสนอขอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) เพื่อออกคำสั่งแก้ไขข้อกฎหมายที่ยังติดขัดอยู่
ขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th/education/504002