ทบทวนหลักสูตร ป.บัณฑิต
มอบคุรุสภา หาวิธีการเรียนที่เข้มข้นขึ้นแต่ใช้เวลาลดน้อยลง/โอดอส#5 ยังไม่คลอด
วันที่ 14 ก.ค.59 ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่าจากการประชุม ศธ.ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้หารือถึงการดำเนินโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2559-2572) จำนวน 10 รุ่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับสมัครรุ่นแรก ประจำปี 2559 จำนวน 4,079 คน กำหนดรับสมัครตั้งแต่ 4-18 ก.ค.59 เบื้องต้นมีผู้สมัครแล้วกว่า 22,000 คน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญของโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ต้องการได้ครูมีความรู้ ความสามารถ ปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนโดยไม่มีความต้องการที่จะย้ายออก เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูในหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
ทั้งนี้ ศธ.ได้กันอัตราเพื่อบรรจุข้าราชการครู ทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการไว้ 48,374 อัตรา หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ที่เกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2558-2559 จำนวน 189,795 คน
ดร.ชัยยศ กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2559 กำหนดให้รับผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปีการศึกษา 2558 ซึ่งกำลังจะจบการศึกษา ผู้ที่จบหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 5 ปี ผู้ที่จบหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู และผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นๆ โดยจะเริ่มบรรจุรุ่นแรก ในวันที่ 24 ต.ค.59 ซึ่งผู้ที่จบหลักสูตรครู 5 ปี และ ป.บัณฑิต จะได้รับการบรรจุทันที ส่วนผู้ที่ไม่ได้จบวิชาชีพครู มีเงื่อนไขว่าต้องมาเรียน ป.บัณฑิตก่อนถึงจะได้รับการบรรจุ
“ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กลับไปทบทวนว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้การเรียน ป.บัณฑิต เข้มข้นขึ้น แต่ใช้เวลาลดน้อยลง เพราะหลักสูตร ป.บัณฑิต จะใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยเรียนวิชาการครึ่งปี และอีก 1 ปีเป็นการปฏิบัติการสอน ตรงนี้คุรุสภาต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง อาทิ ปรับลดเวลาการสอนเหลือเพียงครึ่งปี หรือทบทวนปรับแก้ไขข้อบังคับที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องมีสัญญาจ้างจากโรงเรียนก่อน โดยอาจจะเสนอบอร์ดคุรุสภายกเว้นให้กับผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ถือเป็นข้อยุติ โดยคุรุสภา จะต้องไปหารือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้รับการรับรองให้เปิดสอนป.บัณฑิตก่อน”
ดร.ชัยยศ กล่าวและว่า ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือโอดอส รุ่นที่ 5 นั้น เวลานี้ยังอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดและหลักเกณฑ์ เนื่องจากการดำเนินการตั้งแต่รุ่นที่ 1-4 มีข้อทักท้องหลายเรื่อง อาทิ ข้อสอบที่ใช้การคัดเลือกค่อนข้างยาก เด็กสละสิทธิการเรียนในต่างประเทศ แต่มาเลือกเรียนในประเทศแทน รวมถึงยังพบปัญหากรณีเด็กทุนที่ไปเรียนต่างประเทศ ไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา ด้วยสาเหตุหลายอย่างทั้งปัญหาการเรียน การใช้ชีวิต และสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ทุนโอดอสยังคงมีการดำเนินการต่อ เพราะวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ยังต้องทบทวนแนวทาง และวิธีการทำงาน เพื่อวางแนวทางในการเดินหน้ารุ่นต่อไปให้เรียบร้อยก่อน
ที่มา : สยามรัฐ