สพฐ.ทำมาตรฐานครูสอนในร.ร.ต้องตรงตามเอก
“การุณ” เผยจัดทำมาตรฐานครูสอนตรงตามสาขาวิชาเอก ทั้งประถม-มัธยม-การศึกษาพิเศษ อยู่ระหว่างทดลองใน 37 ร.ร.ของกทม.หวังขยายผลใช้ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้กำชับให้ผู้บริหารดำเนินการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 11 เรื่องซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของ สพฐ. โดยนโยบายสำคัญ ทำให้ครูใช้ศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่ภายใน 5 ปี การปรับระบบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ให้เป็นที่ยอมรับและสะท้อนถึงคุณภาพการจัดการศึกษาภายในปี 2560 การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบสะเต็มศึกษาครบทุกโรงเรียนภายใน 5 ปี การทำให้จำนวนครูต่อนักเรียนครบตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดภายใน 1 ปี มี ครูประจำชั้น ครบทุกห้องเรียนภายใน 2 ปี และ ทำให้มีครูผู้สอนตรงสาขาตรงตามสาขาวิชาเอกภายใน 5-10 ปี โดยตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 11 ชุดเพื่อรับผิดชอบและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในแต่ละด้าน เนื่องจากนโยบายสำคัญของปี 2559 เหล่านี้ จะต้องถูกสานต่อในปี 2560 อย่างเต็มที่
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
“การทำ ให้จำนวนครูต่อนักเรียนครบตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด รวมถึงมีครูสอนตรงสาขาวิชาเอกนั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้จัดทำมาตรฐานวิชาเอกในแต่ละโรงเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมถึงการศึกษาพิเศษ และจะกำหนดให้ทุกโรงเรียนมีครูตามมาตรฐานวิชาเอก โดย สพฐ.กำลังทดลองนำมาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดไปเก็บข้อมูลครูในโรงเรียนในสำนัก งานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กรุงเทพมหานคร เขต 1 จำนวน 37 โรง ว่ามีผู้จบจากวิชาเอกตามสาขาวิชาที่สอนเท่าไหร่ อยู่ระหว่างการประมวลผลข้อมูล จากนั้นจะนำมาดูว่าแต่ละโรงเรียนมีครูในวิชาใดขาด และมีครูวิชาใดเกิน เพื่อโยกย้ายให้ครบตามมาตรฐานที่กำหนด และจะนำเสนอต่อก.ค.ศ. ให้ออกหลักเกณฑ์การพิจารณาการโยกย้ายสับเปลี่ยนครู และนำไปขยายผลกับโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถทำให้บรรลุตามเป้าหมายได้ภายใน 5-10 ปี”นายการุณ กล่าว