ชี้ถก-เซิร์นเฟ้นแนวทางผลสัมฤทธิ์ศึกษา หนุนอี-ทิชเชอร์เข็มทิศปรับบทบาทครูศตวรรษที่21
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยผลการประชุมเครือข่ายวิจัยทางการศึกษาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน (ซี-เซิร์น) ครั้งที่ 3 ว่า การประชุมครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนจากศูนย์อาเซียน-จีน (เอซีซี) และผู้แทนจากสถาบันวิจัยการศึกษาและวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (เอ็นไออีเอส) รวม 10 ประเทศ มาประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของไทย เพื่อระดมแนวคิดเกี่ยวกับการวางกรอบแนวทางปฏิบัติ และหารือประเด็นท้าทายเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (แอดมิชชั่น) ของประเทศสมาชิกซีมีโอ
การประชุมซี-เซิร์น ทำให้เห็นภาพรวมระบบแอดมิชชั่นของกลุ่มประเทศสมาชิกว่ามีความคล้ายคลึงกัน คือ มีระบบการทดสอบกลางเป็นหลัก แต่เริ่มปรับระบบมาใช้การประเมินทัศนคติ คุณลักษณะ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนของประเทศที่มีพัฒนาการระดับอุดมศึกษาสูง เช่น ประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย จะมุ่งเน้นความต้องการนักศึกษาที่สอดคล้องกับภาคธุรกิจและการศึกษาตลอดชีวิต โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง และสังคม รับรู้ว่าใบปริญญาบัตรและการได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบเดียวของชีวิต แต่ผู้เรียนควรเลือกเส้นทางการศึกษาตามสมรรถนะและความต้องการของตนเองเป็นหลัก
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
สำหรับทิศทางคุณภาพครูในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และจีนนั้น ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาครูและสร้างสมรรถนะที่จำเป็นของครูในศตวรรษที่ 21 ที่ตอบสนองการพัฒนาของแต่ละประเทศ โดยที่ประชุมเห็นว่าครูในศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะเรียกว่า อี-ทิชเชอร์ คือ เปลี่ยนสถานะจากครูเป็นผู้สอน หรือถ่ายทอดความรู้ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้แนะแนวทาง และครูควรเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ร่วมศึกษาแก่ผู้เรียน
ที่มา : ข่าวสด