ข่าวการศึกษา

กลยุทธ์ปฏิรูปการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 452/2559
รมว.ศึกษาธิการ พบผู้บริหารและครู กทม.
เพื่อ
สื่อสารถึงนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และครู กทม. โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.ต.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมชี้แจงนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยมีนางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าราชการ กทม. รวมทั้งคณะผู้บริหาร คณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. ตลอดจนข้าราชการครูสังกัด กทม. เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

เมื่อคราวประชุม รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้กล่างถึงประเด็น ปฏิรูปการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ ไว้ว่า

ปฏิรูปการบริหารงานบุคคล

     1) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายของครูและผู้บริหาร โดยมีแนวทางและผลการดำเนินงาน ดังนี้

  • การแก้ไขปัญหาครูขาดและครูเกิน โดยขณะนี้มีจำนวนครูเกินลดลงเหลือ 6,700 คน และจำนวนครูขาดลดน้อยลงเช่นกัน พร้อมทั้งมีความพยายามที่จะเกลี่ยครูในโรงเรียนที่มีครูเกินไปอยู่โรงเรียนที่ขาดแคลนครู โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้วย ในส่วนของการทำงานร่วมกันนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะได้หารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การบรรจุ โอน และย้ายครูระหว่างสังกัด เพื่อให้การเกลี่ยครูเป็นไปตามความต้องการของโรงเรียนอย่างแท้จริง

  • การกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้อำนวยการโรงเรียน แทนตำแหน่งเกษียณอายุราชการ โดยจะออกข้อสอบกลางสำหรับทดสอบทั้งในกลุ่มประสบการณ์และกลุ่มทั่วไป เมื่อได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จะเริ่มต้นจากโรงเรียนขนาดเล็กก่อน จากนั้นต้องทำสัญญารับการประเมินผลการทำงานรอบ 6 เดือนและ 1 ปี โดยประเมินจากการทำงานและแผนการพัฒนาโรงเรียน หากผ่านการประเมินก็เป็นผู้อำนวยการต่อไป แต่หากไม่ผ่านการประเมินต้องกลับไปอยู่ที่เดิมก่อนที่จะมา อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเปรียบเสมือนแม่ทัพ คือคนที่อยู่ด้านหน้าสุดในการรบกับการศึกษา เพราะอยู่กับครู ดังนั้นครูจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน

  • การปรับตารางการบรรจุและแต่งตั้ง  ทั้งการบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วย การแต่งตั้งหรือการย้ายรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการโรงเรียน ให้แล้วเสร็จก่อน 1 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งทุกโรงเรียนต้องปรับตารางการทำงานให้เป็นไปตามนี้ด้วย

     2) การผลิตและพัฒนาครู มีแนวทางและผลการดำเนินงาน ดังนี้

  • เทคนิคการสอนและทักษะการพูด กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการสื่อสารและถ่ายทอดที่ดีของผู้ที่เป็นครู เพราะคาดหวังว่าครูต้องมีทักษะการพูด วิเคราะห์ และถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดที่เข้าใจได้ง่ายได้ ขณะนี้มีความพยายามที่จะสื่อสารให้ครูได้รับรู้และเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดและเทคนิคที่ดี ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้และมีแนวปฏิบัติที่ดีเป็นตัวอย่างอยู่มากมาย เช่น การดึงความสนใจของนักเรียนในนาทีแรกที่เข้าสู่ห้องเรียน หรือจะหลอกเด็กให้เข้าใจในการเรียนรู้ได้อย่างไร เป็นต้น

  • ปรับหลักสูตรผลิตครู ของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งให้มีมาตรฐานเดียวกัน

  • สัดส่วนการผลิตครู ได้กำหนดสัดส่วนการผลิตครูให้สอดคล้องกับข้อมูลความต้องการและอัตราการเกษียณอายุราชการของครูในแต่ละปี คือ สัดส่วนการผลิต 25:40:35 ของอัตราเกษียณอายุราชการ ประกอบด้วยโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 25% เพื่อผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2559 เป็นปีแรก และมีผู้สมัครได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 4,079 อัตรา, การผลิตครูระบบปิด 40% โดยสถาบันผลิตครูส่งแผนงานการผลิตผู้เรียน รับจัดสรรโควตา และงบประมาณตามที่กำหนด, การผลิตครูระบบเปิดทั่วไป 35%

  • การตรวจเลือดครู (ประเมิน) ได้กำหนดแนวทางการจัดสอบครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ เพื่อเป็นการประเมินจุดด้อย ช่องว่างของครูแต่ละคนที่ควรได้รับการพัฒนา และจะให้การใช้จ่ายงบประมาณด้านการฝึกอบรมพัฒนาครูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การยกระดับครูภาษาอังกฤษ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาภาษาอังกฤษ อาทิ จัดทำแอพพลิเคชั่น Echo Hybrid, Echo English, การพัฒนาครูภาษาอังกฤษผ่านกระบวนการ Boot Camp เพื่อพัฒนาครูแกนนำที่มีทักษะ B2 ขึ้นไปจำนวน 350 คน ในการอบรมพัฒนาแบบเข้มเป็นเวลา 5 สัปดาห์กับครูต่างชาติ, การปรับโครงสร้างหลักสูตรและระยะเวลาในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ชั้น ป.1-3 จากเดิมสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เป็นสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง (วันละ 1 ชั่วโมง) พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น จัดทำป้ายบอกทางต่าง ๆ ภายในสถานศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น

  • การรักษาขวัญกำลังใจ “การที่คนผิดไม่ได้รับการลงโทษ ถือว่าเป็นการทำลายขวัญของคนดี” กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ติดตามและตรวจสอบปัญหาการทุจริตในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งการโยกย้าย ดุลยพินิจหรือการลงโทษที่ไม่ถูกต้อง การได้รับโทษจากการที่ไม่รู้ระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น

ที่มา : โดยกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button