ข่าวการศึกษา

ผลการประเมิน PISA 2015

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดงานแถลงข่าวผลการประเมิน “โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ” (Programme for International Student Assessment : PISA) ประจำปี 2015 โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าว เมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการ สสวท., นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท., นางสุนีย์ คล้ายนิล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท. รวมทั้งผู้บริหารองค์กรหลัก และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าวกว่า 100 คน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เปิดเผยว่า จากการที่ สสวท.ได้เข้าร่วมกับ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA เพื่อเป็นการประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต ซึ่งได้จัดการประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2000 และได้ประเมินอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี โดยในปี ค.ศ.2015 มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ (ประเทศกลุ่ม OECD 35 ประเทศ, ประเทศเข้าร่วม 37 ประเทศ) และเป็นการจัดสอบด้วยคอมพิวเตอร์เต็มรูปแบบ (Computer-Based Assessment : CBA) เป็นครั้งแรก โดยมีผลการประเมิน PISA 2015 ดังนี้

● ผลประเมินภาพรวมของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับในแต่ละด้าน

  • ด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ 556 คะแนน, ญี่ปุ่น 538 คะแนน, เอสโตเนีย 534 คะแนน, จีนไทเป 532 คะแนน, ฟินแลนด์ 531 คะแนน ตามลำดับ

  • ด้านการอ่าน ได้แก่ สิงคโปร์ 535 คะแนน, แคนาดา 527 คะแนน, ฮ่องกง-จีน 527 คะแนน, ฟินแลนด์ 526 คะแนน, ไอร์แลนด์ 521 คะแนน ตามลำดับ

  • ด้านคณิตศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ 564 คะแนน, ฮ่องกง-จีน 548 คะแนน, มาเก๊า-จีน 544 คะแนน, จีนไทเป 542 คะแนน, ญี่ปุ่น 532 คะแนน ตามลำดับ

img_20161207_034027

● ผลประเมินประเทศไทย

จากการเก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี จำนวน 8,249 คน ใน 273 โรงเรียนทุกสังกัดการศึกษา เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 โดยใช้แบบทดสอบประเมินความสามารถในการใช้ความรู้และทักษะ ด้านวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ พร้อมทั้งแบบสอบถามนักเรียนและผู้บริหารโรงเรียน

ซึ่งผลการประเมิน PISA 2015 ของประเทศไทยพบว่า มีคะแนนเฉลี่ยด้านวิทยาศาสตร์ 421 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน), ด้านการอ่าน 409 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) และด้านคณิตศาสตร์ 415 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 490 คะแนน)

● ผลประเมินประเทศอาเซียน

มีประเทศอาเซียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม แต่คะแนนของประเทศมาเลเซียจะไม่ถูกนำมาเปรียบเทียบ เนื่องจากอัตราการเข้าสอบน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีผลการจัดอันดับการประเมินตามลำดับคือ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย

img_20161207_034433

ทั้งนี้ เมื่อได้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนในภาพรวม ตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงรอบปัจจุบัน พบว่าผลการประเมินด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างจากการประเมินรอบที่ผ่าน ๆ มามากนัก คงจะมีเพียงคะแนนด้านการอ่านเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนรูปแบบการทดสอบจากใช้กระดาษกับปากกา เป็นระบบทดสอบการอ่านผ่านทางคอมพิวเตอร์แบบเต็มรูปแบบ ทำให้เด็กบางส่วนไม่มีความคุ้นเคยกับรูปแบบการสอบเช่นนี้ แต่ไม่ใช่อ่านไม่เข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ได้รายงานผลการประเมินรอบนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยต่อคะแนนที่ได้ พร้อมเร่งให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็ว โดยส่วนตัวรู้สึกไม่พอใจกับคะแนนที่ออกมามากนัก แต่ต้องยอมรับว่าคะแนนซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะเห็นได้จากคะแนนของกลุ่มโรงเรียนที่มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และกลุ่มโรงเรียนสาธิต ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลาง PISA โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ ที่มีคะแนนสูงในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุด 5 อันดับแรก และมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าสิงคโปร์ (มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดอันดับหนึ่งของ PISA ในทุกวิชา) ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ (567 คะแนน) และด้านการอ่าน (537 คะแนน) ส่วนคะแนนด้านคณิตศาสตร์ (556 คะแนน) ยังเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ และในกลุ่มโรงเรียนสาธิตยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD คือ ด้านวิทยาศาสตร์ 510 คะแนน ด้านการอ่าน 494 คะแนน และด้านคณิตศาสตร์ 503 คะแนน ในขณะที่กลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงจะนำผลสะท้อนจากคะแนน PISA มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยได้เตรียมแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ว่าภายใน 15 ปีข้างหน้าจะเร่งพัฒนาคะแนนการประเมิน PISA ของประเทศไทยทุกด้านให้เพิ่มขึ้น 100 คะแนน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การผลิตและพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button