เตรียมพัฒนาโรงเรียน ICU ทั่วประเทศ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟัง
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การพบปะกับ ผอ.สพป./สพม.ทั้ง 225 เขตในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มอบนโยบายเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยมีนโยบายหลักที่เป็นประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับโรงเรียน ICU ดังนี้
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ในระยะเวลาการทำงานที่เหลือตาม Roadmap ของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการจะเน้นการปฏิรูปห้องเรียนและพร้อมทำงานที่เป็น “รูปธรรม” อย่างแท้จริง โดยโครงการที่สำคัญคือ จะให้ สพฐ. คัดเลือกโรงเรียนที่มีสภาพแย่ที่สุดหรือตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่เป็น ICU ในทุกภูมิภาคและทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะต้องไม่ใช่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐกว่า 7,000 แห่ง เพราะโรงเรียนเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้โรงเรียน ICU เหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนในด้านต่าง ๆ ตามที่โรงเรียนเหล่านั้นขาดแคลน อีกทั้งนโยบายนี้จะทำให้รู้ว่าโรงเรียน ICU นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดอะไรบ้าง เพื่อที่ กศจ. จะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาได้อย่างตรงจุด
สำหรับการคัดเลือกโรงเรียน ICU นั้น ในจำนวนโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่าโรงเรียน 10,000 แห่ง เป็นห้องเรียนที่ดีอยู่แล้ว เช่น เป็นโรงเรียนระดับ World Class, โรงเรียนประชารัฐ เป็นต้น โรงเรียนอีก 10,000 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับกลาง ส่วนโรงเรียนที่เหลืออีก 10,000 แห่ง เป็นโรงเรียน ICU และอยู่ในสภาพที่แย่ เช่น ครูไม่พอ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เด็กติดยาเสพติด เด็กออกกลางคัน มีปัญหาด้าน IT เป็นต้น หากไม่ดูแลโรงเรียน ICU เหล่านี้ การศึกษาชาติจะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ
ในเบื้องต้นจะทำการคัดเลือกโรงเรียน ICU จำนวน 3,000 แห่ง โดยจะพิจารณาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจก่อน โดย สพฐ. ต้องร่วมพิจารณาคัดเลือกโรงเรียน ICU ด้วยในกรณีที่โรงเรียนนั้นมีสภาพที่เข้าข่ายโรงเรียน ICU แต่ไม่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะเปรียบเสมือนกับการมีโรงพยาบาลที่มีเตียง ICU จำนวน 3,000 เตียง โดย สพฐ. จะทำหน้าที่เสมือนเจ้าของโรงพยาบาล
เมื่อได้โรงเรียน ICU แล้ว ผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูในโรงเรียนต้องร่วมกันวินิจฉัยปัญหาของโรงเรียน จากนั้นจัดทำแผนการรักษาจากทุกภาคส่วน ซึ่งผู้บริหาร สพฐ. ต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาโรงเรียน ICU ด้วย เมื่อมีแผนแล้วจะระดมแก้ปัญหาภายใน 1 ภาคเรียน หากโรงเรียนใดได้รับการพัฒนาจนพ้นจากโรงเรียน ICU แล้วก็สามารถออกจากเตียง ICU ได้ โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาที่สามารถนำโรงเรียนออกจากเตียง ICU ได้ จะได้รับการเลื่อนขั้นตามความดีความชอบอย่างเหมาะสม และถือเป็นเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาความก้าวหน้าในสายงานอีกอันหนึ่งด้วย
ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้านการศึกษาได้ เพราะเรานำหลักเกณฑ์เดียวมาใช้กับโรงเรียนทุกแห่ง (One Size Fits All) รวมทั้งผู้บริหารไม่ได้ลงไปดูอย่างจริงจัง และในกรณีของโรงเรียน ICU จะได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งนโยบายนี้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างแท้จริง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับโรงเรียนในเมือง ถึงเวลาแล้วที่จะหันมาให้ความสนใจกับคนที่ยากจน โดยการลงพื้นที่สำรวจปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อทำการสอบถาม พูดคุย เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และจะเป็นข้อมูลพื้นฐานของการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยไม่เกิดการต่อต้านจากชุมชนด้วย เพราะเราสามารถระบุปัญหาของโรงเรียนเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนว่าทำไมต้องทำการยุบรวม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการพยายามทำให้นโยบายต่าง ๆ เป็นรูปธรรมชัดเจน และขอให้ทุกคนรู้หน้าที่ตนเอง ตื่นเช้าขึ้นมาให้คิดว่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง สำหรับคนที่ดีอยู่แล้วเราจะไม่เข้าไปยุ่ง แต่เราต้องการดูแลคนที่มีปัญหาจริง ๆ ทั้งยังขอยืนยันว่าจะขอเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากที่สุดคนสุดท้าย เพราะจะเน้นการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ให้มากที่สุด และในนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียน ICU นี้ จะเป็นแนวทางเดียวกับการแก้ไขปัญหาสถานศึกษาของอาชีวศึกษาด้วย โดยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เข้าร่วมรับฟังนโยบายในครั้งนี้เช่นกันด้วย