สาระความรู้

กินโกรทฮอร์โมนไม่เพิ่มความสูง-ส่งผลเสียร่างกาย

แพทย์ชี้กินฮอร์โมนเสริมเพิ่มความสูงก่อผลเสียทำให้ร่างกายหยุดผลิตฮอร์โมนเอง เผยผ่าตัดยืดกระดูกเพิ่มความสูงได้ แต่ไม่ควรทำ มีผลเสียมากกว่าดี เส้นเลือด-เส้นเอ็น-เส้นประสาทไม่ยืดตาม แนะออกกำลังกายลงน้ำหนักพอประมาณ อย่าออกแรงกระแทกมาก จะทำให้เตี้ยได้

นพ.อี๊ด ลอประยูร ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (BASEM) รพ.กรุงเทพ กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ทำอย่างไรให้เด็กไทยสูงสมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ความสูงเกิดจากกระดูกเจริญเติบโต ซึ่งกระดูกมีกระดูกแข็งและกระดูกอ่อน โดย “กระดูกอ่อน” ที่อยู่ตรงปลายทั้งสองด้านของท่อนกระดูกซึ่งจะมีมากในวัยเด็ก ทำให้เด็กเติบโตและสูงขึ้น แต่ผู้ใหญ่ไม่สามารถสูงขึ้นได้อีก เพราะกระดูกอ่อนได้กลายเป็นกระดูกแข็งทั้งหมดแล้ว ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูกคือ 1.โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งถูกกระตุ้นโดยต่อมใต้สมอง ปริมาณการหลั่งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ อาหารการกิน และการนอนหลับพักผ่อนด้วย และ 2.การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เป็นการกระตุ้นร่างกายว่าจำเป็นต้องมีกระดูกที่แข็งแรง กล้ามเนื้อใหญ่ และเส้นเอ็นที่แข็งแรง เพื่อรองรับการออกกำลังกาย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ส่วนการที่พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกตัวสูงและซื้อฮอร์โมนมาให้ลูกกินนั้น นพ.อี๊ดกล่าวว่า เป็นปัญหาที่พบบ่อย เพราะโกรทฮอร์โมนเป็นสิ่งที่ร่างกายมีอยู่แล้ว การเสริมด้วยฮอร์โมนจำเป็นในเด็กที่ขาดโกรทฮอร์โมน ซึ่งมีการศึกษาชัดเจนว่า หากร่างกายของเด็กมีการเพิ่มโกรทฮอร์โมน 2-3 เท่า ไม่ช่วยให้เพิ่มความสูง เช่นเดียวกับการกินแคลเซียมเสริมกระดูก ร่างกายก็ดูดซึมและนำไปใช้เพียง 300 มิลลิกรัมเท่านั้น แม้จะกินในปริมาณมากๆ ที่สำคัญการรับฮอร์โมนทั้งที่ร่างกายก็หลั่งตามปกติ ถือว่าอันตรายมากกว่า หากร่างกายรับรู้ว่ามีปริมาณฮอร์โมนมากเกินพอแล้ว ต่อมใต้สมองที่ควบคุมการหลั่งของโกรทฮอร์โมนก็จะหยุดทำงาน

สำหรับการผ่าตัดกระดูกเพื่อเพิ่มความสูง ทางการแพทย์สามารถทำได้โดยทำการตัดกระดูกให้ออกจากกัน เหลือเพียงเยื่อหุ้มกระดูก จากนั้นค่อยๆ ยืดกระดูกขึ้นวันละนิด ก็จะช่วยให้กระดูกค่อยๆ ยาวขึ้นมาได้ แต่วิธีนี้ใช้เวลาเป็นปีโดยใส่เหล็กดามไว้ที่ขา กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เจ็บตัว และมีความเสี่ยง มักมีกรณีการบาดเจ็บที่ส่งผลให้เดินไม่ได้จากขาทั้งสองข้างยาวไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม แม้กระดูกจะถูกยืด แต่เส้นเลือด เส้นเอ็น และเส้นประสาท ไม่ได้ถูกยืดตามไปด้วย จะดูไม่สมส่วนได้ เพราะขายาวขึ้น แต่ไม่สัมพันธ์กับความยาวของแขน เป็นต้น ดังนั้น การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักปานกลาง กินอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กสูงขึ้น แต่อย่าออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกมากจนเกินไป เพราะแทนที่จะสูง แต่เกิดแรงกระแทกมากจนทำให้เตี้ยแทนได้ เหมือนกรณีนักกีฬายกน้ำหนักหรือนักกีฬายิมนาสติกที่ฝึกตั้งแต่เด็ก จะพบว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสูงนัก.

ที่มา : ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button