ก.ค.ศ. ชี้แจง ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วยและสอบครูผู้ช่วยไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
ก.ค.ศ. เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 3/2560 วันที่ 20 มีนาคม 2560 ได้มีมติให้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วยจากที่กำหนดไว้เดิม “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน” เป็นกำหนดใหม่ “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา”
เนื่องจากปัจจุบันสถานศึกษาหลายแห่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้ครูที่มีคุณวุฒิสาขาเฉพาะทาง แต่สาขาเฉพาะทางบางสาขา เช่น กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก ฯลฯ ยังไม่ได้มีการเปิดสอนในหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาที่ ก.ค.ศ.รับรองและเป็นสาขาวิชาที่มีความจำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอน แต่ยังไม่สามารถมีใบประกอบวิชาชีพครู มาสมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ ทั้งนี้ เมื่อบุคคลดังกล่าวผ่านการสอบแข่งขันและถึงลำดับที่ที่จะบรรจุฯ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ผู้ที่จบหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีและคุรุสภาได้ออกหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูเพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน เมื่อได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย นอกจากต้องปฏิบัติหน้าที่สอนแล้ว ครูผู้ช่วยดังกล่าวจะต้องดำเนินการและได้รับการพัฒนาดังนี้
1. เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มเป็นเวลา 2 ปีก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ครู ในระยะเวลา 2 ปี จะต้องได้รับการประเมินปีละ 4 ครั้ง โดยประเมินในเรื่องการปฏิบัติตนและการปฏิบัติงาน (การจัดการเรียนรู้ การพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาวิชาการ การพัฒนาสถานศึกษา การพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชน) ซึ่งในระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หากผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ พิจารณาเห็นว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดมีความประพฤติไม่ดีหรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความเหมาะสม หรือมีผลการประเมินทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยไม่ควรให้รับราชการต่อไปก็ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้ (มาตรา 56 แห่ง พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗)
2. จะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติในการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (เช่น ศึกษาต่อหลักสูตรปริญญาโททางการสอน หรือ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ที่คุรุสภารับรอง)แม้ว่าครูผู้ช่วยจะผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม (2ปี) หากไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ไม่สามารถแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูได้ (ตามมาตรฐานตำแหน่งครูกำหนดไว้)สำหรับผู้ที่จบหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี และได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย นอกจากต้องปฏิบัติหน้าที่สอนแล้ว ครูผู้ช่วยดังกล่าวจะต้องได้รับการพัฒนา เฉพาะข้อ 1 สำหรับข้อ 2 ไม่ต้องดำเนินการ
การได้รับเงินเดือน
– ผู้ที่จบปริญญาตรี 4 ปี จะได้รับเงินเดือน 15,050 บาท
– ผู้ที่จบปริญญาตรี 5 ปี จะได้รับเงินเดือน 15,800 บาท
– ผู้ที่จบปริญญาโท โดยรับจากผู้จบปริญญาตรี 4 ปี จะได้รับเงินเดือน 17,690 บาท
– ผู้ที่จบปริญญาโท โดยรับผู้จบปริญญาตรี 5 ปี จะได้รับเงินเดือน 18,690 บาท
หลักสูตรการสอบแข่งขันในตำแหน่งครูผู้ช่วย สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาตรี 5 ปี ใช้หลักสูตรเดียวกัน ดังนี้
ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์ความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (๑๕๐ คะแนน)
ภาค ข ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (๑๕๐ คะแนน)
๑. ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา (๗๕ คะแนน) ให้ทดสอบโดยวิธีการสอบข้อเขียนแบบปรนัย ในเรื่องต่อไปนี้
๑.๑ หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร
๑.๒ หลักการสอนที่เน้นการสอนคิดวิเคราะห์และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
๑.๓ จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว
๑.๔ การพัฒนาผู้เรียน
๑.๕ การบริหารจัดการชั้นเรียน
๑.๖ การวิจัยทางการศึกษา
๑.๗ สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
๑.๘ การวัดและประเมินผลการศึกษา
๑.๙ ลักษณะงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง
๒. ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก (๗๕ คะแนน) ให้ทดสอบ
โดยวิธีการสอบข้อเขียนและหรือภาคปฏิบัติเกี่ยวกับความรู้ในเนื้อหากลุ่มวิชา หรือทางหรือสาขาวิชาเอก
ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ (๕๐ คะแนน) ให้ประเมินโดยวิธีการสัมภาษณ์ สังเกต ตรวจสอบเอกสาร หรือวิธีอื่นที่เหมาะสม โดยประเมินจาก
๑. ประวัติส่วนตัวและการศึกษา
๒. บุคลิกลักษณะ ท่วงทีวาจา
๓. วุฒิภาวะทางอารมณ์
๔. การมีปฏิภาณไหวพริบ
๕. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เจตคติและอุดมการณ์
ในหลักสูตรการสอบแข่งขัน ภาค ข ข้อ 1 ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา เนื้อหาที่ใช้ในการสอบจะเป็นเนื้อหาที่ผู้จบปริญญาตรี 5 ปี ได้ศึกษามาแล้ว สำหรับหลักสูตร 4 ปี ส่วนใหญ่จะไม่ได้กำหนดเป็นรายวิชาในหลักสูตร 4 ปี
ที่มา : facebook ก.ค.ศ.