ข่าวการศึกษา

วิเคราะห์ผลสอบ O-NET รายได้ประชากรสูงได้คะแนนสูง รายต่ำคะแนนต่ำ

ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมองค์กรหลักรับทราบผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ประจำปีการศึกษา 2559 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งได้ประกาศผลสอบไปแล้วเมื่อวันที่ 25-26 มีนาคมที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ www.niets.or.th ซึ่งพบว่าผลคะแนน O-NET โดยรวมของประเทศ สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของสังคมอย่างชัดเจน กล่าวคือคะแนน O-NET ของจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยประชากรสูง ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต จะมีคะแนน O-NET สูงกว่าจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยประชากรต่ำ ได้แก่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่สำคัญในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาพรวมคะแนน O-NET คะแนนภาพรวมของประเทศในปีนี้ สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำมากกว่าปัญหาเชิงคุณภาพ เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นรายจังหวัดของ 15 จังหวัดที่มีคะแนนสูงสุดและต่ำสุด พบว่าจังหวัดที่รายได้เฉลี่ยประชากรสูง จะมีผลคะแนน O-NET สูง ส่วนจังหวัดที่รายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำ ก็จะมีผลคะแนน O-NET ต่ำ เช่นกัน

    ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

  • แนวโน้มคะแนนสูง-ต่ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจังหวัดที่มีคะแนน O-NET สูง ก็จะพบว่ามีคะแนนสูงเหมือนกันในทุกวิชา ส่วนจังหวัดที่มีคะแนน O-NET ต่ำ ก็จะต่ำในทุกวิชา ไม่มีจังหวัดใดที่คะแนนสูงบางวิชาและต่ำในบางวิชา

  • ข้อสังเกตจากส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ของคะแนน O-NET ในแต่ละวิชา พบว่าในจังหวัดที่มีคะแนน O-NET ต่ำ จะมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในแต่ละวิชาต่ำ แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า ในจังหวัดที่มีคะแนน O-NET ที่สูง จะมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานกระโดดและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคะแนนจะแสดงการแบ่งแยกคะแนนของคนจนและคนรวยอีกชั้นหนึ่ง

  • การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากผลคะแนน O-NET ซึ่งแม้ว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีผลคะแนนรั้งอันดับสุดท้ายของประเทศ แต่ก็เป็นที่น่าชื่นชมว่า ผลคะแนน O-NET ของทั้ง 3 จังหวัดเพิ่มขึ้นทุกปีในทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นวิชาที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงที่สุด

ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงมอบนโยบายในเรื่องนี้ว่า การแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป ขอให้แก้ไขลงในรายละเอียดเป็นรายจังหวัด เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาการจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพได้ตรงจุด เช่น บางจังหวัดต้องอบรมครู, บางจังหวัดต้องจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้เพียงพอครบถ้วน เป็นต้น พร้อมกันนี้ทางสถานศึกษาจะปรับเนื้อหากิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติให้มีคุณภาพมากขึ้น เช่น การสอนเสริมให้กับนักเรียนยากจนในช่วงปิดภาคเรียน โดยครูเองก็จะได้เงินพิเศษในส่วนนี้ด้วย

ที่มา: ข่าวสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button