ข่าวการศึกษา

เตรียมตัวให้พร้อม อบรมครูด้วยระบบทางไกล โครงการบูรณาการสะเต็มศึกษา

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 166/2560
9 หน่วยงาน ร่วมมืออบรมครูด้วยระบบทางไกล โครงการบูรณาการสะเต็มศึกษา

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าวและลงนามความร่วมมือ 9 หน่วยงาน ในการอบรมครูด้วยระบบทางไกล โครงการบูรณาการสะเต็มศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 ณ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เตรียมตัวให้พร้อม อบรมครูด้วยระบบทางไกล โครงการบูรณาการสะเต็มศึกษา
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมและร่วมมือกันพัฒนาสะเต็มศึกษาในประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ประการ คือ การฝึกฝน (Guided Practice), มีความรู้ในเรื่องที่จะสอนเป็นอย่างดี (Subject Knowledge) และมีวิธีการสอนที่ชัดเจน (Pedagogy) โดยขอฝากข้อคิด 4 ประการ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาในประเทศไทย เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันขบคิด เชื่อมโยง ขยายผล ตลอดจนหาวิธีแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

1. สะเต็มศึกษาควรเริ่มต้นที่เด็กก่อนวัยเรียน เพราะเป็นวัยที่เด็กมีความอยากรู้อยากเห็น เพราะหากสอนสะเต็มศึกษาตอนเด็กโตแล้วอาจจะสายไป ไม่ทันการณ์ ดังนั้นทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาให้เด็กต้องเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบเด็กในแต่ละช่วงวัยไปพร้อม ๆ กัน

2. การอบรมทางไกลสะเต็มศึกษาในครั้งนี้ ครูผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถนำชั่วโมงการอบรมไปนับชั่วโมงการขอวิทยฐานะได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งจูงใจ (Incentive) ให้ครูเข้าอบรมด้วย ขณะนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ส่งรายละเอียดให้สถาบันคุรุพัฒนาพิจารณาเพื่อรับรองหลักสูตรการอบรมแล้ว

3. การอบรมทางไกลมักจะมีข้อจำกัดหรือพบปัญหาการถ่ายทอดสัญญาณ โดยต้องทำให้สัญญาณมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ การอบรมแบบ Teleconference ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้เข้าอบรมมีแรงจูงใจที่จะเข้าอบรมเพียงใด และไม่สามารถประเมินได้ว่าผู้เข้าอบรมได้ความรู้อะไรบ้าง อีกทั้งครูเหล่านี้จะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปสอนต่อหรือแบ่งปัน ตลอดจนขยายผลในห้องเรียนหรือสถานศึกษาของตนได้อย่างไร จึงขอฝากให้ทุกฝ่ายช่วยกันพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

4. องค์ความรู้การสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่สำคัญ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อีกทั้งวิทยาการบางอย่างเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เราก้าวตามไม่ทันในหลาย ๆ เรื่อง ดังนั้นพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เราจะสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าครูมีพื้นฐานความรู้ที่ผิด หรือครูเข้าใจผิดแต่แรกก็จะสอนให้เด็กเข้าใจผิดไปตลอด จึงขอฝากให้ สสวท. ดูแลเรื่องนี้ เพื่อทำให้มั่นใจว่าวิทยากรที่จะส่งไปประจำศูนย์ฯ ต่าง ๆ ทั้ง 257 ศูนย์ มีองค์ความรู้ที่ชัดเจน

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการยืนยันเจตนารมณ์ของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้เรียนรู้เพิ่มเติม อีกทั้งสามารถนำชั่วโมงการอบรมไปเชื่อมโยงกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้โดยไม่ต้องใช้เงินโควตาการอบรมของ สพฐ. คนละ 10,000 บาทด้วย แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงแค่การอบรมครู 2-3 ครั้งแล้วจบ แต่จะต้องติดตามประเมินผลไปตลอด

นางพรพรรณ ไวทยางกูร กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษาสู่สถานศึกษาให้ครอบคลุมทุกสังกัดและทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สสวท., สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Channel), สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV), สถานีโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษาในชั้นเรียนได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบการอบรมครูทางไกลผ่าน ETV, DLTV, OBEC Channel ไปยังศูนย์การอบรมของทุกสังกัด จำนวน 527 ศูนย์ ที่กระจายอยู่ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดย สสวท. ทำหน้าที่เป็นวิทยากรหลัก และเป็นศูนย์กลางการประสานงาน และพัฒนาหลักสูตรการอบรม พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณค่าอาหาร ค่าวัสดุอุปกรณ์ สื่อและเอกสารประกอบการอบรม

โดยจะทำการจัดอบรมทางไกลสะเต็มศึกษา ครั้งที่ 1/2560 ใน 3 ช่วงเวลา คือ
– ระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2560 การอบรมครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
– ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2560 การอบรมครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
– ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2560 การอบรมครูระดับประถมศึกษา

นอกจากนี้ การอบรมดังกล่าวจะเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง กล่าวคือ วิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมสามารถสื่อสารกันระหว่างการอบรมผ่าน Facebook Live หรือ Teleconference ซึ่งคาดว่าจะมีครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในทุกสังกัด ผ่านการอบรมด้วยระบบทางไกลประมาณ 67,500 คนต่อปี อีกทั้งครูผู้เข้าอบรมจะได้รับชุดเอกสารคู่มือการอบรม รวมทั้งเอกสารการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาเพื่อนำไปใช้ออกแบบการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในห้องเรียนตามบริบทของแต่ละโรงเรียนได้

ทั้งนี้ ภายหลังการอบรมจะมีการสอบวัดความรู้ออนไลน์ และเมื่อผ่านการอบรมแล้วครูผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับวุฒิบัตรด้วย โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการอบรมได้ที่เว็บไซต์สะเต็มศึกษา ประเทศไทย www.stemedthailand.org หรือเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th

สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ได้มีผู้แทนจาก 9 หน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือเข้าร่วมงานคือ นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, นางชนัญยา จาดชนบท รักษาการผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Channel), นายปรีชา ชื่นชนกพิบูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) และนายไพศาล ล้อมทอง ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ปฏิบัติราชการแทนประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

เตรียมตัวให้พร้อม อบรมครูด้วยระบบทางไกล โครงการบูรณาการสะเต็มศึกษา
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button