หนังสือคู่มือ

ปฏิทินและแนวทางการจัดซื้อหนังสือเรียน งบประมาณ พ.ศ. 2565

ปฏิทินและแนวทางการจัดซื้อหนังสือเรียน งบประมาณ พ.ศ. 2565

งบประมาณค่าหนังสือเรียนที่ได้รับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับงบประมาณปี พ.ศ. 2565 เป็นค่าหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับระดับก่อนประถมศึกษา ค่าหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกระดับชั้น และแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐาน ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้เฉพาะ ป.1 – ป.6 เพื่อจัดสรรให้นักเรียนมีหนังสือใช้เรียนครบทุกคน ดังนี้

มูลค่าหนังสือต่อชุด

ก่อนประถมศึกษา จำนวน 200 บาท/คน/ปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 656 บาท/คน/ปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 650 บาท/คน/ปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน  653 บาท/คน/ปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 707 บาท/คน/ปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 846 บาท/คน/ปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน  859 บาท/คน/ปี
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 808 บาท/คน/ปี
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน  921 บาท/คน/ปี
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 996 บาท/คน/ปี
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,384 บาท/คน/ปี
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 1,326 บาท/คน/ปี
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1,164 บาท/คน/ปี
ชั้น ปวช. 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ ๒,๐๐๐ บาท/คน/ปี

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ลักษณะของหนังสือที่ใช้

กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนงบประมาณให้สถานศึกษาจัดซื้อหนังสือตามกิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่

ระดับก่อนประถมศึกษา
เป็นหนังสือเสริมประสบการณ์ระดับชั้นอนุบาลที่สอดคล้องตามหลักสูตรการศึกษา ปฐมวัยพุทธศักราช 2560

ระดับประถมศึกษา (ป.1 – ป.6)
เป็นหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน รายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คือ
1) ภาษาไทย
2) คณิตศาสตร์
3) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4) สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
5) สุขศึกษาและพลศึกษา
6) ศิลปะ
7) การงานอาชีพ
8) ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)
และแบบฝึกหัดในรายวิชาพื้นฐาน 3กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มี เพื่อเสริมทักษะที่จำเป็นแก่นักเรียนเฉพาะระดับประถมศึกษาเท่านั้น ได้แก่
1) ภาษาไทย
2) คณิตศาสตร์
3) ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)

ระดับมัธยมศึกษา (ม.1 – ม.6)
เป็นหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน รายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
หมายเหตุ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาระภูมิศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ปีการศึกษา2564 เป็นต้นไปทุกระดับชั้น ให้ใช้หนังสือเรียนและแบบฝึกหัดที่จัดทำตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาระภูมิศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. 1239/2560 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560

การคัดเลือกหนังสือเรียนและแบบฝึกหัด

หนังสือเสริมประสบการณ์ระดับชั้นอนุบาล
ให้ครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาล เป็นผู้คัดเลือกหนังสือตามหลักการจัดการศึกษาปฐมวัยโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย (ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนนักเรียน)และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
การพิจารณาคัดเลือกให้พิจารณาจากความสอดคล้องของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยและหลักสูตรสถานศึกษา ปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมกระบวนการคิด คุณธรรม จริยธรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งสามารถดูรายชื่อตัวอย่างหนังสือที่ผ่านการประกวด/การคัดเลือกจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจาก

เว็บไซต์สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา http://academic.obec.go.th 
หรือเว็บไซต์ฐานข้อมูลบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้สำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลาง
การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 http://academic.obec.go.th/textbook/web

หนังสือเรียนและแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2551

ให้ครูผู้สอนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกหนังสือตามเหตุผลเชิงคุณค่าทางวิชาการเสนอคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย (ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนนักเรียน) และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

การคัดเลือกให้พิจารณาจากหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐานพิจารณาคัดเลือกจากหนังสือที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรสถานศึกษามีเนื้อหาสาระยากง่ายเหมาะสมกับผู้เรียน โดยปกติให้เลือกจากบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้สำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษา จากเว็บไซต์

ฐานข้อมูลบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้สำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 http://academic.obec.go.th/textbook/web/
หรือเว็บไซต์ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา http://academic.obec.go.th

แนวทางการจัดซื้อหนังสือเรียนและแบบฝึกหัด

การจัดซื้อหนังสือเสริมประสบการณ์ระดับชั้นอนุบาล
ให้จัดซื้อเพื่อใช้สำหรับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ควรมีหลากหลายประเภท หลากหลายในด้านของผู้แต่ง ผู้วาดภาพประกอบและเนื้อหาการเรียนรู้และมีจำนวนเพียงพอกับเด็ก เหมาะสมต่อการจัดประสบการณ์ในห้องเรียนระดับชั้นอนุบาล

การจัดซื้อหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้ดำเนินการจัดซื้อ ดังนี้

1) จัดซื้อหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ให้นักเรียนครบทุกคน
โดยหนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสาระภูมิศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้พิจารณาเลือกซื้อฉบับที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด(ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เห็นชอบการขยายเวลาการอนุญาตใช้สื่อการเรียนรู้ของเอกชนที่ใบอนุญาตครบ 5 ปี ในปีการศึกษา 2559 – 2564 ให้สามารถใช้ต่อในปีการศึกษา 2565 ได้อีกในระยะเวลา 1 ปี เพื่อรอการปรับปรุงและประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่

2) จัดซื้อแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐานระดับประถมศึกษา
โดยให้จัดซื้อแบบฝึกหัดใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) เพื่อแจกให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกคน โดยไม่เรียกเก็บคืน ทั้งนี้ การจัดซื้อแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาให้พิจารณาเลือกซื้อฉบับที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์(ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

กรณีสถานศึกษาไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการตามข้อ 1) และ 2) ข้างต้นได้
อาจรวมกลุ่มกับสถานศึกษาอื่นเพื่อดำเนินการคัดเลือกหนังสือเรียน หรือร้องขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาช่วยดำเนินการแทนได้

กรณีที่ได้รับแจ้งจัดสรรงบประมาณยังไม่ครบตามวงเงินงบประมาณค่าหนังสือเรียน
ให้สถานศึกษายืมเงินจาก งบเงินอุดหนุน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนมาใช้เป็นลำดับแรกก่อน  หากยังไม่พอให้ยืมเงินจากรายการค่าจัดการเรียนการสอนเป็นลำดับถัดไป และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมครบจำนวนนักเรียนจริงให้ส่งใช้คืนรายการเดิม งบประมาณในการจัดซื้อหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดสามารถถัวจ่ายระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้และระดับชั้นได้

กรณีโรงเรียนหรือห้องเรียนในโครงการที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่
1) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
2) โรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลและจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
3) ห้องเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
4) ห้องเรียนในโรงเรียนหลักสูตร English Program (EP) และห้องเรียนในโรงเรียนหลักสูตร Mini English Program (MEP)
* สามารถนำเงินงบประมาณไปจัดซื้อหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์พิเศษของโครงการได้ โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการภาคี ๔ ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

กรณีมีงบประมาณที่เหลือจากการจัดซื้อหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานรายวิชาพื้นฐานให้แก่นักเรียนทุกคนแล้ว
ให้สถานศึกษาสามารถนำไปจัดซื้อหนังสือเสริมประสบการณ์ระดับปฐมวัยหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม รายวิชาเพิ่มเติมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาหรือจัดทำสำเนาเอกสารประกอบการเรียนการสอน เช่น ใบงาน ใบความรู้ เป็นต้น โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาแจกหนังสือเรียนที่จัดซื้อให้แก่นักเรียนทุกคนโดยไม่เรียกเก็บคืนและสร้างวินัยให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงการใช้หนังสือให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

วิธีดำเนินการจัดซื้อ

1. ให้สถานศึกษาดำเนินการจัดซื้อโดยถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ (หนังสือสำนักงบประมาณ ที่ นร 0704/ว 37 ลงวันที่ 6 มกราคม 2559 เรื่อง แนวทางการพิจารณาสิ่งของที่จัดเป็นวัสดุและครุภัณฑ์ตามหลักการจำแนกประเภทรายจ่ายตามงบประมาณและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  โดยให้คำนึงถึงคุณภาพที่เหมาะสมกับราคาและให้ต่อรองราคาจากผู้ขายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กรณีหนังสือเรียนที่คัดเลือกมีความจำเป็นต้องระบุชื่อสำนักพิมพ์และชื่อผู้แต่งเป็นการเฉพาะ ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม โดยให้จัดทำหนังสือแจ้งให้ผู้มีอาชีพ ร้านค้า สำนักพิมพ์ เข้าแข่งขันราคาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อมีผู้เสนอราคาต่ำสุดแล้วหากเห็นว่าราคายังไม่เหมาะสมให้ทำการต่อรองราคาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

2. ให้สถานศึกษาเตรียมดำเนินการหาผู้ขายไว้ให้พร้อม เพื่อที่จะทำสัญญาได้ทันทีเมื่อได้รับแจ้งอนุมัติการโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา

3. เมื่อได้รับเงินงบประมาณให้ตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับแจ้งการโอนเงินและจำนวนเงินในสมุดคู่ฝากของธนาคารว่ามีจำนวนเงินที่ถูกต้องตรงกัน และออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการในนามของสถานศึกษาตามจำนวนเงินที่ได้รับส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

4. เมื่อดำเนินการจัดซื้อหนังสือเรียนเรียบร้อยแล้วให้สถานศึกษาลงบัญชีวัสดุ หนังสือเรียนและให้นักเรียนลงชื่อรับหนังสือไว้เป็นหลักฐานเพื่อการตรวจสอบ

5. การจัดซื้อหนังสือเรียนจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้  ทั้งนี้ได้กำหนดปฏิทินการดำเนินงานมาให้ด้วยแล้ว

ปฏิทินการจัดซื้อหนังสือเรียน
ปฏิทินการจัดซื้อหนังสือเรียน ปีการศึกษา 2565

คณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย

ปฏิทินและแนวทางการจัดซื้อหนังสือเรียน งบประมาณ พ.ศ. 2565

ขั้นตอนการจัดซื้อหนังสือเรียน

ปฏิทินและแนวทางการจัดซื้อหนังสือเรียน งบประมาณ พ.ศ. 2565 ปฏิทินและแนวทางการจัดซื้อหนังสือเรียน งบประมาณ พ.ศ. 2565

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button