ข่าวการศึกษา

ประกาศผลสอบโอเน็ต 28-29 มีนา และเฉลยข้อสอบ ภายในภาคเรียนที่ 1/2559

วัตถุประสงค์ของการจัดสอบ O-NET คือ การทดสอบความรู้และความคิดรวบยอดตามมาตรฐานการเรียนรู้และตามตัวชี้วัด ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551, เพื่อนำไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจบช่วงชั้นและสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น, เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา และครูอาจารย์ ได้นำผลการทดสอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและประเมินผลการสอน รวมทั้งนำผลการทดสอบมาทำวิจัยต่อไป

นอกจากนี้ สทศ.ได้เผยแพร่ตัวอย่างข้อสอบให้สถานศึกษาทราบรายละเอียดว่าจะทดสอบมาตรฐานอะไรบ้าง มีข้อสอบทั้งหมดกี่ข้อ และคิดเป็นกี่คะแนน รวมทั้งได้ชี้แจงรูปแบบของข้อสอบที่มีความหลากหลาย เช่น ข้อสอบปรนัย ข้อสอบเชื่อมโยงและคิดวิเคราะห์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการเผยแพร่ตัวอย่างกระดาษคำตอบ เพื่อให้สถานศึกษาได้เตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ทั้งนี้ สทศ.จะทำการเปิดเผยข้อมูลและผลการสอบเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการนำไปใช้มากที่สุด กล่าวคือ สทศ.จะประกาศผลสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 28 มีนาคม 2559 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในวันที่ 29 มีนาคม 2559 ผ่านทางเว็บไซต์ของ สทศ. (www.niet.or.th) ซึ่งจะประกาศผลแบบรายบุคคล โดยในใบรายงานผลจะมีการรายงานผลคะแนนแบบ T-Score เพื่อให้นักเรียนสามารถประเมินตนเองและเทียบคะแนนกับผู้อื่นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนในการวางแผนศึกษาต่อ พร้อมทั้งจะมีการประกาศผลแบบรายโรงเรียน โดยจำแนกตามขนาดโรงเรียน, ที่ตั้งของโรงเรียน, เขตพื้นที่การศึกษา, สังกัด และระดับประเทศ เพื่อให้ ครู อาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษานำผลการสอบของนักเรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน รวมทั้งยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ดียิ่งขั้นได้ สำหรับสถานศึกษาที่ต้องการตรวจสอบผลคะแนน O-NET เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 สามารถตรวจสอบผลคะแนนผ่านทางระบบการรายงานผลอัตโนมัติ (RPS : Reporting Service System) ได้ที่เว็บไซต์ของ สทศ.

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับนโยบายการประเมินผล โดยจะต้องดำเนินการให้เกิดความยุติธรรม โปร่งใส ถูกต้อง เป็นประโยชน์ และสะท้อนมาตรฐานของเด็กจริง ๆ ซึ่งหากผลการทดสอบปรากฏว่าคุณภาพของเด็กยังต่ำกว่ามาตรฐานเราก็ต้องช่วยกันแก้ไข

สำหรับการเปิดเผยกระบวนการและข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบนั้น รัฐบาลมีนโยบายเปิดให้สุด ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลนี้ไม่ได้ทำเพื่อให้ใครอาย แต่เป็นการทำให้คุณภาพดีขึ้น ด้วยการดำเนินการทุกอย่างแบบเปิดเผย กรณีข้อสอบ O-NET นี้ไม่ใช่การบอกข้อสอบล่วงหน้า แต่เป็นการบอกสเปกข้อสอบ อีกทั้งจะมีการเปิดเผยข้อสอบรวมทั้งเฉลย ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินการจัดสอบ ซึ่งข้อสอบอาจจะผิดหรือมีปัญหาก็ได้ คนออกข้อสอบต้องรับผิดชอบและไม่ต้องอายแล้ว เพราะการเปิดเผยจะให้เกิดการพัฒนาให้ดีขึ้นและถูกต้อง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดเผยข้อสอบพร้อมทั้งเฉลยได้ภายในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว จะต้องทำการหารือกับคณะกรรมการบริหารของ สทศ.ก่อน เนื่องจากการเปิดเผยข้อสอบพร้อมเฉลยในครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาความเข้าใจผิดในสังคม ที่นักเรียนจำข้อสอบออกมาจากห้องสอบ ซึ่งมีรายละเอียดบางส่วนบิดเบือนไปจากข้อสอบฉบับจริง อีกทั้งยังเป็นการทำให้ผู้ออกข้อสอบมีมาตรฐานในการออกข้อสอบขึ้นด้วย

ในส่วนของการดำเนินการจัดทำคลังข้อสอบด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและ สทศ. เพื่อให้มีข้อสอบที่จะใช้วัดผลประเมินผลในช่วงปลายภาค (Summative Assessment) เช่น ข้อสอบปลายภาค ข้อสอบ O-NET ข้อสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อ เป็นต้น โดย สทศ.จะทำหน้าที่เป็น Gatekeeper หรือผู้รักษามาตรฐาน ซึ่งคลังข้อสอบดังกล่าวต้องมีมาตรฐานและมีข้อสอบมากพอและไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้การสอบเป็น Surprise อีกต่อไป แต่การสอบต้องเป็นตัวช่วยประเมินเด็กและครูอย่างแท้จริง ครูและเด็กจะได้รู้ตัวเองเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ในการสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ป.6 ของปีการศึกษา 2559 จะมีข้อสอบอัตนัยร้อยละ 20 ในวิชาภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน และการปฏิรูประบบการวัดผลและประเมินผลในครั้งนี้ อาจจะยังไม่เกิดผลทันที แต่เชื่อว่าจะเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน

อ่านข่าวฉบับเต็มๆได้ที่ : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button