ข่าวการศึกษา

ผลการประชาพิจารณ์แผนการศึกษาชาติ ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี

เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.กมล รอดคล้าย) ประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐– ๒๕๖๔) ในภาคใต้ โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นายศุภวัชร ศักดา) กล่าวต้อนรับ หลังจากนั้น ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ ด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ) นำเสนอ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๔ ประธานอนุกรรมการเครือข่ายฯ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ (นายชุมพล ศรีสังข์) นำเสนอสภาพบริบทและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในพื้นภาคใต้ด้านการศึกษา  โดยมีที่ปรึกษาอนุกรรมการเครือข่ายฯ (ผศ. ดร. ณรงค์ พุทธิชีวิน) อภิปรายและเสนอความเห็น  ทั้งนี้มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ประมาณ ๒๕๐ คน ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมประชาพิจารณ์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ดำเนินการใน ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดสุดท้ายเนื่องจากเป็นศูนย์กลางภาคใต้ และสามารถนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของภาคใต้โดยรวม เพื่อสะท้อนไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศ มีประเด็น ๔ เรื่อง ประกอบด้วย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

๑) หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน นอกจากจะมีหลักสูตรกลางของประเทศเพื่อนำไปใช้เรียนต่อแล้ว ควรมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น เช่น การประกอบอาชีพในท้องถิ่น หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับภาษาในการต้อนรับธุรกิจท่องเที่ยวหรือนักลงทุน ฯลฯ โดยจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของสังคม และวัฒนธรรม

๒) การบริหารงานบุคคล (ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา) บุคลากรทางการศึกษาจะต้องมีแผน การผลิตที่เหมาะสม สามารถคัดเลือกคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ ซึ่งเป็นข้าราชการเป็นหลัก โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษอาจมีการบรรจุในลักษณะอื่น แต่มีความเห็นร่วมกันว่าควรเป็นข้าราชการ อาจมีข้าราชการปกติ ข้าราชการพิเศษ ข้าราชการทรงคุณวุฒิ และมีการจัดสรรเงินเดือนที่เหมาะสม

๓) การบริหารและการจัดการศึกษา ปัจจุบันให้เขตพื้นที่กับสถานศึกษาไปดำเนินการด้วยตัวเอง ควรมีสถาบันพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาเป็นสถาบันกลาง โดยจะต้องมีความต่อเนื่อง และต้องให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถพัฒนางานด้านวิชาการ บริหารทรัพยากรบุคคล งานทั่วไป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงศึกษาธิการต้องนำไปปรับปรุง และทบทวน และ

๔) ระบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณทางการศึกษา ต้องกำหนดระเบียบให้ชัดเจนว่า หน่วยงานต่าง ๆ ควรสนับสนุนเรื่องใด เช่น บุคลากรที่เป็นประชาชน ประชาสังคม ภาคธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาจะลดภาษี หรือสิ่งตอบแทน ถ้ามีการกฎระเบียบจะทำให้เกิดการส่วนร่วมกับการศึกษามากขึ้น

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก ๔ ประเด็นนี้ที่กล่าวมาข้างต้น ยังกล่าวถึงสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยสร้างความรู้ให้สังคม แต่ในประเทศไทยสถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมน้อย ทั้งที่อุดมศึกษาควรสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับสังคม  อุดมศึกษาควรเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ และเผยแพร่สู่สังคม ซึ่งจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ สกศ. วางเป้าหมายว่า การจัดการศึกษาในอนาคมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการทางการศึกษา สร้างความเท่าเทียม สร้างคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ประชุมเสนอให้ระบุในเรื่องความต่อเนื่องของแผนการศึกษาแห่งชาติ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละช่วง มักมีนโยบายใหม่ๆ ส่งผลให้ทิศทางการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การกำหนดให้เกิดความต่อเนื่อง ต้องกำหนดเป็นกฎหมาย หรือมีคณะกรรมการในการติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่ง สกศ. จะรับเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อไป โดยคณะกรรมการสภาการศึกษาที่จะเกิดในอนาคตนี้ จะมีคณะอนุกรรมการติดตามการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติดำเนินการควบคู่กันไปด้วย เชื่อว่าจะทำให้แผนเป็นแผนที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพ และต่อเนื่องตามที่คาดหวังไว้

“การเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ผู้แทนองค์กรศาสนา ฯลฯ ในการให้ความเห็น ข้อเสนอะแนะ ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ซึ่งทุกคนต้องการเห็นระบบการศึกษาที่ดี อยากเห็นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นพลเมืองที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นทุนมนุษย์ที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญ เชื่อว่า ทุกคนมีความพร้อมที่จะระดมความร่วมมือเพื่อการศึกษา ทำให้การศึกษาตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศให้ได้” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สกศ.

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button