ศธ.ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็น 50/50 ภายในปี 60

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานให้ทราบถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษา
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
เป้าหมายการรับผู้เรียนอาชีวศึกษา
สอศ.ได้ตั้งเป้าหมายการรับผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญไว้ดังนี้
ปี 2558 คือ 41 : 59
ปี 2559 คือ 45 : 55
ปี 2560 คือ 50 : 50
โดยในปี 2558 คาดว่านักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปี 2557 จะศึกษาต่อในปี 2558 จำนวน 774,573 คน นักเรียนที่เข้าศึกษาต่อร้อยละ 90 คิดเป็น 697,115 คน ในสัดส่วนอาชีวะ : สามัญ อยู่ที่ 41 : 59 (อาชีวะ 285,817 คน สามัญ 411,298 คน)
ชุมแพโมเดล
สอศ.ได้พัฒนารูปแบบ “ชุมแพโมเดล” ในการแนะแนวการเรียนรู้สู่อาชีพเพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวะ : สามัญ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 กับวิทยาลัยการอาชีพชุมแพ และภาคีเครือข่าย จากการใช้ชุมแพโมเดล ส่งผลให้มีการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาในปี 2557 เป็น 51.63 : 43.57
ผลการสำรวจความพึงพอใจ จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อรูปแบบ “ชุมแพโมเดล” พบว่ามีความพึงพอใจระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 87 ระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 10 และระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 3 สำหรับความพึงพอใจของนักเรียน มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 94 และระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 6
การแนะแนวเชิงรุก ได้มีการนำนักเรียนไปรับการแนะแนวจากสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับอาชีวศึกษาโดยตรง รวมทั้งได้แนะแนวผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อการตัดสินใจศึกษาต่อของนักเรียนว่าจะไปทางสายอาชีพหรือสามัญ ซึ่งก็คือผู้ปกครองนั่นเอง ผู้ปกครองจึงต้องได้รับการแนะแนวร่วมกับนักเรียนด้วย นอกจากนี้ ครูที่ปรึกษาก็นับเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสำหรับนักเรียนอีกด้วย
การทำให้นักเรียนเห็นสภาพจริงทั้งอาชีพ ตำแหน่งงาน รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการที่หลากหลายจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง
การดูแลนักเรียนที่ศึกษาต่อสายอาชีพ
สถานศึกษาที่เปิดสอนอาชีวศึกษาต้องมีปฏิสัมพันธ์ สื่อสาร ให้ข้อมูลกับเด็กและผู้ปกครอง รวมถึงครูที่ปรึกษาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จนกว่านักเรียนกลุ่มเป้าหมายจะรายงานตัวและลงทะเบียนเรียน จึงจะถือว่าสิ้นสุดกระบวนการแนะแนว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอให้ช่วยกันดูแลนักเรียนที่ออกนอกระบบ เพื่อนำกลับเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ ทั้งนี้ ให้ สอศ.เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ นิเทศ แนะแนว เพื่อให้เด็กได้รับทราบข้อมูล รวมทั้งการดำเนินงานในอนาคตที่ต้องมีหน่วยงานร่วมกันคิดกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการวางแผนผลิตกำลังคนในทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งคิดเชิงระบบในการพัฒนาทักษะด้านแรงงานด้วย