ข่าวการศึกษา

นโยบายการจัดสอบ O-NET และระบบการประเมินการเรียนการสอน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET (Ordinary National Education Test) ปีการศึกษา 2559 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สนามสอบโรงเรียนราชวินิต เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษา, ผู้บริหารสถานศึกษา, คณาจารย์ และสื่อมวลชน ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบ

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมสนามสอบในครั้งนี้ ได้รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาระบบการประเมิน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก โดยการสอบ O-NET ปีการศึกษา 2559 นี้เป็นครั้งแรกที่มีข้อสอบอัตนัยจำนวน 2 ข้อ ในวิชาภาษาไทยของชั้น ป.6 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของคะแนนทั้งหมด เพื่อวัดความสามารถทางการเขียนและการคิดวิเคราะห์ของเด็ก เนื่องจากการสอบแบบอัตนัยเป็นวิธีการที่สามารถวัดผลด้านการคิดวิเคราะห์ของเด็กได้ หากเราจะสอนให้เด็กคิดเป็นแต่ยังออกข้อสอบแบบปรนัย ก็จะทดสอบไม่ได้ว่าเด็กคิดเป็นหรือไม่ อีกทั้งผลการสอบแบบอัตนัยจะทำให้รู้ว่าเด็กไทยมีความสามารถในการเขียน การจับใจความ และการคิดวิเคราะห์หรือไม่ ซึ่งสถานศึกษาสามารถนำผลการสอบนี้มาวิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้ โดยถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบการประเมินของประเทศ และ สทศ. และ สพฐ. ก็ได้ร่วมกันเตรียมการอย่างละเอียด อาทิ การพัฒนาและฝึกครูกว่า 2,000 คน ในการตรวจข้อสอบอัตนัย

สำหรับการขยายผลให้มีข้อสอบอัตนัยในวิชาอื่นของการสอบ O-NET เห็นว่าทุกฝ่ายต้องมีความพร้อมก่อน กล่าวคือ ต้องมีมาตรฐาน มีกระบวนการประกันคุณภาพ และการตรวจข้อสอบต้องมีคุณภาพระดับสากล เราต้องมั่นใจว่าเรามีกระบวนการที่ดี เพราะการเตรียมการต่าง ๆ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะการขยับแต่ละครั้งต้องเข้าใจว่าเรามีทรัพยากรเพียงใด หากเราทำใหญ่ไปจะทำได้เพียงรูปแบบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องมีการพัฒนาและมีเป้าหมายชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจจะล้มเหลวกันทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีแนวทางเพิ่มสัดส่วนข้อสอบอัตนัยเป็นร้อยละ 30 ในวิชาภาษาไทยของชั้น ป.6 เป็นการกระตุ้นให้โรงเรียนออกข้อสอบอัตนัย เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กคุ้นชินกับการสอบ O-NET เพราะข้อสอบอัตนัยมาติวกันเพียงไม่กี่วันก่อนสอบไม่ได้ และครูก็ต้องปรับวิธีการสอนใหม่ ต้องสอนเด็กว่าจะเขียนอย่างไร คิดอย่างไร และสรุปความอย่างไร เพราะวิธีการประเมินก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว

นอกจากนี้ การสอบ O-NET ปี 2559 เป็นปีแรกที่ สทศ. จัดให้มีการทดสอบแบบ e-Testing หรือการทดสอบแบบออนไลน์ โดยมีนักเรียนจำนวน 648 คน เข้าสอบ e-Testing ด้วยความสมัครใจ ต่อจากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะส่งเสริมและต่อยอดให้ สทศ. ร่วมกับ สพฐ. จัดทำ e-Test Bank หรือคลังข้อสอบแบบออนไลน์เพื่อให้เด็กสามารถเข้าไปลองทำข้อสอบ และทดสอบระดับความสามารถของตนเองได้ เพราะเด็กควรมีโอกาสเข้าถึงความกว้างของการประเมิน อีกทั้ง e-Test Bank จะทำให้เด็กไม่ต้องไปเรียนกวดวิชา และในอนาคตอาจจะดำเนินการจัดทำ e-Test Bank ในลักษณะแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วย

ในส่วนของการเปิดเผยลักษณะเฉพาะของแบบทดสอบ (Test Specification)  สทศ.ได้ทำการชี้แจงและประชาสัมพันธ์วัตถุประสงค์ของการสอบ ขอบเขตของแบบทดสอบ โครงสร้างและรูปแบบของแบบทดสอบ รวมทั้งขอบเขตเนื้อหาและเฉลยแบบทดสอบที่สอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนได้เรียนตามกลุ่มสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ตามตัวชี้วัดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกช่องทาง เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา คณาจารย์ และนักเรียนทราบว่าข้อสอบมีลักษณะอย่างไรบ้าง

ย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังให้ค่าเฉลี่ยคะแนน O-NET ของทุกระดับชั้นเพิ่มสูงขึ้น เพราะการที่เด็กได้คะแนนต่ำ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว ระบบประเมินก็มีส่วนสำคัญ หากเราทำระบบประเมินให้ดี จะทำให้รู้ว่าปัญหาจริง ๆ คืออะไร ไม่ใช่สอนให้เด็กเตรียมสอบอย่างเดียว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพิ่งเริ่มเป็นปีแรก สิ่งที่เราทำในกระบวนการศึกษากว่าจะออกดอกออกผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงมั่นใจว่าในอนาคต คะแนนเฉลี่ยต้องเพิ่มขึ้น เพราะนี่คือการปฏิรูปของจริง จึงขอขอบคุณ สทศ. และ สพฐ. ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้เตรียมการอย่างดี อาทิ กระบวนการออกข้อสอบ การขนย้ายข้อสอบ การเก็บข้อสอบ ทำให้การดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยดี

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สทศ. ไม่ได้ออกข้อสอบในสิ่งที่อยู่นอกเหนือหลักสูตร แต่ออกข้อสอบตามตัวชี้วัดของ สพฐ. และได้แจ้งให้สถานศึกษาทราบล่วงหน้า อีกทั้ง สทศ. ยินดีขยายผลการออกข้อสอบอัตนัยในข้อสอบ O-NET ทุกวิชา โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน เช่น งบประมาณ เวลาในการตรวจ และผู้ตรวจข้อสอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ สทศ. มีกระบวนการทุกอย่างที่มีความรัดกุมในการวิพากษ์ข้อสอบและตรวจข้อสอบ โดยเฉพาะข้อสอบอัตนัยซึ่งต้องมีความเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สทศ. ไม่ได้มองเพียงการนำข้อสอบอัตนัยมาวัดผลเท่านั้น แต่มองถึงประโยชน์ในการนำผลการสอบมาพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาวิธีการเรียนการสอน พัฒนาการคิด ซึ่งครูที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ตรวจข้อสอบอัตนัยจะเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอด และจัดการเรียนการสอนที่เน้นวิธีคิด รวมทั้งส่งเสริมการออกข้อสอบอัตนัยในโรงเรียนต่อไป

“การสอบ O-NET ปีการศึกษา 2559 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีกำหนดจัดสอบในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 มีศูนย์สอบ 186 ศูนย์, สนามสอบ 4,182 สนาม, ห้องสอบ 29,582 ห้อง และมีผู้มีสิทธิ์สอบ 807,087 คน ประกาศผลสอบวันที่ 25 มีนาคม 2560

สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จัดสอบระหว่างวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2560 มีศูนย์สอบ 227 ศูนย์, สนามสอบ 4,329 สนาม, ห้องสอบ 25,108 ห้อง และมีผู้มีสิทธิ์สอบ 688,979 คน ประกาศผลสอบวันที่ 26 มีนาคม 2560 โดย สทศ.ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาจำนวน 325 คน

ทั้งนี้ จะกำหนดจัดสอบ O-NET ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อไป”

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
4/2/2560

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button