เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมมีมติ แบ่งกลุ่มคณะกรรมการอิสระฯ ออกเป็น 5 กลุ่ม และตั้งคณะอนุกรรมการตามภารกิจ ดังนี้ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก คณะอนุกรรมการกองทุน คณะอนุกรรมการครู คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน และคณะอนุกรรมการโครงสร้าง ซึ่งจากนี้แต่ละกลุ่มจะต้องไปประชุมหารือการทำงานตามภารกิจ โดยเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นกรรมการ หรือให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นว่า การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของคณะกรรมการอิสระฯเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของส่วนรวมที่จะต้องมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมขึ้นมาอีกคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่รวบรวมและรับฟังความเห็น จากทุกภาคส่วน โดยเร็ว ๆ นี้ จะมีการเปิดไอดีไลน์ แลเฟซบุ๊ค เพื่อรับฟังความคิดเห็น และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของสังคม ทั้งนี้ที่ประชุม มีการหารือถึงการปฏิรูปการศึกษาที่หลากหลาย และเห็นตรงกันว่า การศึกษา คือการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ที่ต่อไปจะมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ดังนั้น เทคโนโลยีทางการศึกษาและการสื่อสาร จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้
“คณะกรรมการอิสระฯ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นการการปฏิรูปครั้งนี้ จะนำบทเรียนจากความไม่สำเร็จดังกล่าว มาแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อขับเคลื่อนการทำงาน โดยจะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และควรมีการยกร่างธรรมนูญการศึกษาเพื่อเป็นกฎหมายแม่บท ด้านการศึกษา และชี้ให้ชัดว่า อะไรคือหลักการของการจัดการศึกษาที่ชัดเจน” นพ.จรัสกล่าว
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ที่มา : มติชน